บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น
ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร
หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
หมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน
หมวด 3 ภาษีเงินได้
หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ
หมวด 5 ภาษีป้าย (ยกเลิก)
หมวด 6 อากรแสตมป์
หมวด 7 อากรมหรสพ (ยกเลิก)
ลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ (ยกเลิก)
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
    มาตรา 77 ภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นภาษีอากรประเมิน
 

    มาตรา 77/1 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
    (1) " บุคคล " หมายความว่า บุคคลธรรมดา คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคล
    (2) " บุคคลธรรมดา " หมายความรวมถึง กองมรดก
    (3) " คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล " หมายความว่า ห้างหุ้นส่วนสามัญ กองทุน หรือมูลนิธิที่มิใช่นิติบุคคล และให้หมายความรวมถึงหน่วยงาน หรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล
    (4) " นิติบุคคล " หมายความว่า บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลตามมาตรา 39 องค์การของรัฐบาลตามมาตรา 2 สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล
    (5) " ผู้ประกอบการ " หมายความว่า บุคคลซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพ ไม่ว่าการกระทำดังกล่าวจะได้รับประโยชน์ หรือได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ และไม่ว่าจะได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วหรือไม่
    (6) " ผู้ประกอบการจดทะเบียน " หมายความว่า ผู้ประกอบการที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85 หรือมาตรา 85/1 หรือที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3
    (7) " ตัวแทน "หมายความรวมถึงบุคคลซึ่งทำสัญญาหรือมีหน้าที่รับผิดชอบในการเก็บรักษาสินค้า หาลูกค้า หรือทำการใดๆ อันเกี่ยวกับการประกอบกิจการในราชอาณาจักรแทนผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร
    (8) " ขาย " หมายความว่า จำหน่าย จ่าย โอนสินค้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือค่าตอบแทนหรือไม่ และให้หมายความรวมถึง

  ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 36/2540 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.48/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.57/2538 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.90/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.107/2544 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.118/2545 )
      (ก) สัญญาให้เช่าซื้อสินค้า สัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายังไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อแล้ว หรือสัญญาจะขายสินค้าที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี     
    (ข) ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนเพื่อขาย
    (ค) ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักร
    (ง) นำสินค้าไปใช้ไม่ว่าประการใดๆ เว้นแต่การนำสินค้าไปใช้เพื่อการประกอบกิจการของตนเอง โดยตรงตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.47/2537 )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 1) )
      (จ) มีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง
    (ฉ) มีสินค้าคงเหลือและหรือทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ แต่ไม่รวมถึงสินค้าคงเหลือ และหรือทรัพย์สินดังกล่าวของผู้ประกอบการซึ่งได้ควบเข้ากัน หรือได้โอนกิจการทั้งหมดให้แก่กัน ทั้งนี้ ผู้ประกอบการใหม่อันได้ควบเข้ากัน หรือผู้รับโอนกิจการต้องอยู่ในบังคับที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/3
   (ช) กรณีอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 188 (พ.ศ. 2534) )
    (9) " สินค้า " หมายความว่า ทรัพย์สินที่มีรูปร่างและไม่มีรูปร่าง ที่อาจมีราคาและถือเอาได้ไม่ว่าจะมีไว้เพื่อขาย เพื่อใช้ หรือเพื่อการใด ๆ และให้หมายความรวมถึงสิ่งของทุกชนิดที่นำเข้า
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.90/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.107/2544 )
    (10) " บริการ " หมายความว่า การกระทำใด ๆ อันอาจหาประโยชน์อันมีมูลค่าซึ่งมิใช่เป็นการขายสินค้า และให้หมายความรวมถึงการใช้บริการของตนเอง ไม่ว่าประการใดๆ แต่ทั้งนี้ไม่รวมถึง
  ( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 36/2540 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.49/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.53/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.90/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.107/2544 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.118/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.120/2545 )
      (ก) การใช้บริการหรือการนำสินค้าไปใช้ เพื่อประกอบกิจการของตนเองโดยตรง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 2) )
 

    (ข) การนำเงินไปหาประโยชน์โดยการฝากธนาคารหรือซื้อพันธบัตรหรือหลักทรัพย์
    (ค) การกระทำตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

    (11) " ผู้นำเข้า " หมายความว่า ผู้ประกอบการหรือบุคคลอื่นซึ่งนำเข้า
    (12) " นำเข้า " หมายความว่า นำสินค้าเข้ามาในราชอาณาจักร และให้หมายความรวมถึงการนำสินค้าที่ต้องเสียภาษีอากรขาเข้า หรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออกด้วย
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )
    (13) " ผู้ส่งออก " หมายความว่า ผู้ประกอบการซึ่งส่งออก
    (14) " ส่งออก " หมายความว่า ส่งสินค้าออกนอกราชอาณาจักรเพื่อส่งไปต่างประเทศและให้หมายความรวมถึง
      (ก) การนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรเฉพาะสินค้าที่ต้องเสียอากรขาออกหรือที่ได้รับยกเว้นอากรขาออกตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 125) )
      (ข) การขายสินค้าของคลังสินค้าทัณฑ์บนประเภทร้านค้าปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่ขายให้แก่ผู้ที่เดินทางออก ไปนอกราชอาณาจักร ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 125) )
    (15) " ซื้อ " หมายความว่า การรับโอนหรือรับมอบสินค้าจากการขาย
    (16) " ราคา " หมายความว่า เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ใด ๆ อันอาจคิดคำนวณได้เป็นเงินซึ่งได้มีการชำระหรือตกลงจะชำระ เพื่อการซื้อขายสินค้าหรือการให้บริการ
    (17) " ภาษีขาย "หมายความว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เรียกเก็บหรือพึงเรียกเก็บจากผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการตามมาตรา 82/4 วรรคหนึ่ง และภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่เสียในกรณีที่เป็นการขายสินค้าตาม (ง) (จ) (ฉ) หรือ (ช) ของ (8) หรือในกรณีที่เป็นการให้บริการตาม (10) แต่ไม่รวมถึงภาษีที่ต้องเสียตามมาตรา 82/16
    (18) " ภาษีซื้อ " หมายความว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนถูกผู้ประกอบการจดทะเบียนอื่นเรียกเก็บตามมาตรา 82/4 วรรคสี่ และให้หมายความรวมถึง
      (ก) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เสียเมื่อนำเข้าสินค้า
    (ข) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้เสีย เนื่องจากได้รับโอนสินค้านำเข้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรตามมาตรา 82/15
    (ค) ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ได้นำส่งตามมาตรา 83/5 มาตรา 83/6 และมาตรา 83/7
    (19) " ภาษีสรรพสามิต " หมายความรวมถึง ภาษีสุรา ค่าแสตมป์ยาสูบ ค่าธรรมเนียมประทับตราไพ่ และภาษีหรือค่าธรรมเนียมอื่นในลักษณะทำนอง เดียวกัน ตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
    (20) " สถานประกอบการ " หมายความว่า สถานที่ซึ่งผู้ประกอบการ ใช้ประกอบกิจการเป็นประจำ และให้หมายความรวมถึง สถานที่ซึ่งใช้เป็นที่ผลิตหรือเก็บสินค้าเป็นประจำด้วย
    ในกรณีผู้ประกอบการไม่มีสถานประกอบการตามวรรคหนึ่ง ให้ถือว่าที่อยู่อาศัยของผู้ประกอบการนั้นเป็นสถานประกอบการ ถ้าผู้ประกอบการมีที่อยู่อาศัยหลายแห่งให้ผู้ประกอบการเลือกเอาที่อยู่อาศัยแห่งหนึ่งเป็นสถานประกอบการ
  "  (21) " เขตปลอดอากร " หมายความว่า เขตปลอดอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร เขตอุตสาหกรรมส่งออกตามกฎหมายว่าด้วยการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และเขตที่มีกฎหมายกำหนดให้ยกเว้นอากรขาเข้า "
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )
    (22) "ใบกำกับภาษี " หมายความรวมถึง ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ ใบลดหนี้ ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ในการขายทอดตลาด หรือขายโดยวิธีอื่นตามมาตรา 83/5 และใบเสร็จรับเงินของกรมสรรพากร ของกรมศุลกากร หรือของกรมสรรพาสามิต ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม
    (23) " เดือนภาษี " หมายความว่าเดือนประดิทิน เว้นแต่
      (ก) ในกรณีที่ผู้ประกอบการเริ่มประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มหรือได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีใด ให้เริ่มนับเดือนภาษีแรก ตั้งแต่วันเริ่มประกอบกิจการหรือวันที่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 ถึงวันสิ้นเดือนภาษีนั้น แล้วแต่กรณี
    (ข) ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติให้ถอนทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือเลิกประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือตายและผู้จัดการมรดกหรือทายาทมิได้ยื่นขอโอนกิจการ หรือถูกอธิบดีสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มในเดือนภาษีใด ให้เดือนภาษีสุดท้ายสิ้นสุดลงในวันที่อธิบดีสั่งขีดชื่อผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้น ออกจากทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/19
    (ค) ในกรณีที่มีพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีตามช่วงเวลาภาษีตามมาตรา 83/1
 
    มาตรา 77/2 การกระทำกิจการดังต่อไปนี้ในราชอาณาจักร ให้อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามบทบัญญัติในหมวดนี้
    (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยผู้ประกอบการ
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 33/2540 )
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 36/2540 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.51/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.89/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.104/2544 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.115/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.120/2545 )
( ดูประกาศกรมสรรพากร ขยายกำหนดเวลายื่นรายการเพื่อชำระหรือขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม
ของนิติบุคคลอาคารชุด
)
( ดูประกาศกรมสรรพากร ขยายกำหนดเวลายื่นรายการเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม
ของผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของห้องชุด
)
    (2) การนำเข้าสินค้าโดยผู้นำเข้า
( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 269) พ.ศ.2536 )
    การให้บริการในราชอาณาจักร ให้หมายถึง บริการที่ทำในราชอาณาจักร โดยไม่คำนึงว่าการใช้บริการนั้นจะอยู่ในต่างประเทศหรือในราชอาณาจักร
    การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ถือว่าการให้บริการนั้นเป็นการให้บริการในราชอาณาจักร
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 )
   
     มาตรา 77/3 นอกจากกรณีตามมาตรา 91/4 กิจการใดที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/2 หรือได้รับยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะตามมาตรา 91/3 ย่อมไม่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 นี้
   
    มาตรา 77/4 เพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้บุคคลดังต่อไปนี้ ที่ได้ทำสัญญาซื้อขายสินค้าหรือสัญญาให้บริการกับผู้ประกอบการ มีหน้าที่ต้องจัดส่งสำเนาสัญญาหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ไปให้เจ้าพนักงานสรรพากร ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนา ภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดจากเดือนที่ได้ทำสัญญาดังกล่าว
    (1) กระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ให้จัดส่งสำเนาสัญญาตามประเภท ลักษณะและมูลค่าของสัญญาตามที่อธิบดีกำหนด
    (2) บุคคลอื่นตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้จัดส่งสำเนาสัญญาหรือเอกสารอื่นที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ตามประเภท ลักษณะ และมูลค่าของสัญญาหรือเอกสารตามที่ อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
    มูลค่าของสัญญาตาม (1) และ (2) จะต้องกำหนดไม่น้อยกว่า 500,000 บาท
   
     มาตรา 77/5 ในกรณีที่มีปัญหาว่ากิจการใดเป็นการขายสินค้าหรือการให้บริการ ให้อธิบดีมีอำนาจวินิจฉัยและคำวินิจฉัย ของอธิบดีให้ถือเป็นที่สุด
   
    มาตรา 78 ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการขายสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (1) การขายสินค้านอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) (4) หรือ (5) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อส่งมอบสินค้า เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนส่งมอบสินค้าก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
      (ก)โอนกรรมสิทธิ์สินค้า
    (ข) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
    (ค) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี
    (2) การขายสินค้าตามสัญญาให้เช่าซื้อหรือสัญญาซื้อขายผ่อนชำระที่กรรมสิทธิ์ในสินค้ายัง ไม่โอนไปยังผู้ซื้อเมื่อได้ส่งมอบ ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อถึงกำหนดชำระราคาตามงวดที่ถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนถึงกำหนดชำระราคาแต่ละงวด ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
      (ก) ได้รับชำระราคาสินค้า หรือ
    (ข) ได้ออกใบกำกับภาษี
ทั้งนี้โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี

( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.36/2536 )
    (3) การขายสินค้าโดยมีการตั้งตัวแทนเพื่อขายและได้ส่งมอบสินค้าให้ตัวแทนแล้ว ทั้งนี้ เฉพาะสัญญาการตั้งตัวแทนเพื่อขายตามประเภทของสินค้าและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อตัวแทนได้ส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนการส่งมอบสินค้าให้ผู้ซื้อ ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
      (ก) ตัวแทนได้โอนกรรมสิทธิ์สินค้าให้ผู้ซื้อ
    (ข) ตัวแทนได้รับชำระราคาสินค้า
    (ค) ตัวแทนได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
    (ง) ได้มีการนำสินค้าไปใช้ไม่ว่าโดยตัวแทนหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 8) )
    (4) การขายสินค้าโดยส่งออก ให้ความรับผิดเกิดขึ้นดังต่อไปนี้
      (ก) การส่งออกนอกจากที่ระบุใน (ข) หรือ (ค) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาออก วางหลักประกันอากรขาออก หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาออก เว้นแต่ในกรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาออกหรือได้รับยกเว้นอากรขาออก แล้วแต่กรณี ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าขาออก ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
   " (ข) การส่งออกในกรณีที่นำสินค้าเข้าไปในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1(14)(ก) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่นำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตดังกล่าว "
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )
      (ค) การส่งออกซึ่งสินค้าที่อยู่ในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ความรับผิดเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
    (5) การขายสินค้าที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1 (5) และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าอันทำให้ผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (2) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อโอนกรรมสิทธิ์สินค้า
    เพื่อเป็นการบรรเทาภาระในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน สำหรับการขายสินค้าแก่กระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เฉพาะการขายสินค้าตามสัญญาและมีการชำระราคาที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจ กำหนดความรับผิดตาม (1) (2) และ (3) เกิดขึ้นเป็นอย่างอื่นได้
    มาตรา 78/1 ภายใต้บังคับมาตรา 78/3 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการให้บริการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (1) การให้บริการนอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) หรือ (4) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
      (ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
    (ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้นตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.106/2544 )
    (2) การให้บริการตามสัญญาที่กำหนดค่าตอบแทนตามส่วนของบริการที่ทำ ให้ความรับผิดตามส่วนของบริการเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง เว้นแต่กรณีที่ได้มีการกระทำดังต่อไปนี้เกิดขึ้นก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการตามส่วนของบริการที่สิ้นสุดลง ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อได้มีการกระทำนั้น ๆ ด้วย
      (ก) ได้ออกใบกำกับภาษี หรือ
    (ข) ได้ใช้บริการไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น
ทั้งนี้ โดยให้ความรับผิดเกิดขึ้น ตามส่วนของการกระทำนั้น ๆ แล้วแต่กรณี
    (3) การให้บริการที่ทำในต่างประเทศและได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร ให้ความรับผิดทั้งหมดหรือบางส่วนเกิดขึ้นเมื่อได้มีการชำระราคาค่าบริการทั้งหมดหรือบางส่วนแล้วแต่กรณี
    (4) การให้บริการที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(5) และภายหลังได้มีการโอนสิทธิในบริการอันทำให้ผู้รับโอนสิทธิในบริการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (2) ให้ความรับผิดทั้งหมดเกิดขึ้นเมื่อได้รับชำระราคาค่าบริการ
    เพื่อเป็นการบรรเทาภาระในการยื่นแบบแสดงรายการและการชำระภาษีของผู้ประกอบการจดทะเบียน สำหรับการให้บริการแก่กระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ทั้งนี้ เฉพาะการให้บริการตามสัญญาและมีการชำระราคาค่าบริการที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรี มีอำนาจกำหนดความรับผิดตาม (1) และ (2) เกิดขึ้นเป็นอย่างอื่นได้
   
    มาตรา 78/2 ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มที่เกิดจากการนำเข้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (1) การนำเข้านอกจากที่อยู่ในบังคับตาม (2) (3) หรือ (4) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อชำระอากรขาเข้า วางหลักประกันอากรขาเข้า หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกันอากรขาเข้า เว้นแต่กรณีที่ไม่ต้องเสียอากรขาเข้า หรือได้รับยกเว้นอากรขาเข้า ก็ให้ถือว่าความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่มีการออกใบขนสินค้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
   " (2) การนำเข้ากรณีนำสินค้าในราชอาณาจักรเข้าไปในเขตปลอดอากรแล้วนำสินค้าออกจากเขตดังกล่าวโดยมิใช่เพื่อส่งออกตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 77/1 (12) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นในวันที่นำสินค้านั้นออกจากเขตดังกล่าวโดยมิใช่เพื่อส่งออก "
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )
    (3) การนำเข้ากรณีของตกค้างตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ความรับผิดเกิดขึ้นเมื่อทางราชการได้ขายทอดตลาดหรือขายโดยวิธีอื่น เพื่อนำเงินมาชำระค่าภาษี ค่าเก็บรักษา ค่าย้ายขน หรือค่าภาระติดพันตามวิธีการตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
    (4) การนำเข้าสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ใน ภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ค) ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร อันทำให้ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าว หรือผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (3) ให้ความรับผิดเกิดขึ้นพร้อมกับความรับผิดตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร
   
    มาตรา 78/3 ให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้า หรือการให้บริการในกรณีดังต่อไปนี้ เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
    (1) การขายสินค้าที่ไม่มีรูปร่าง เช่น สิทธิในสิทธิบัตร กู๊ดวิลล์ การขายกระแสไฟฟ้าการขายสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกัน หรือการขายสินค้าบางชนิดที่ตามลักษณะของสินค้าไม่อาจกำหนดได้แน่นอนว่ามีการส่งมอบเมื่อใด
    (2) การขายสินค้าหรือการให้บริการด้วยเครื่องอัตโนมัติ โดยวิธีการชำระราคาด้วยการหยอดเงิน ใช้เหรียญหรือบัตร หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน
    (3) การขายสินค้าหรือการให้บริการโดยการชำระราคาด้วยการใช้บัตรเครดิต หรือในลักษณะทำนองเดียวกัน
    (4) การขายสินค้าตามสัญญาจะขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (ก)
    (5) การขายสินค้าตามมาตรา 77/1 (8) (ง) (จ) (ฉ) หรือ (ช)
     กฎกระทรวงดังกล่าวจะกำหนดให้ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้นแตกต่างกัน
ตามประเภทของสินค้าหรือประเภทของการให้บริการก็ได้
  ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 189 (พ.ศ. 2534) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.51/2537 )
   
    มาตรา 79 ภายใต้บังคับมาตรา 79/1 ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการ ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการ รวมทั้งภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) ถ้ามี ด้วย
    มูลค่าของฐานภาษีให้หมายความถึง เงิน ทรัพย์สิน ค่าตอบแทน ค่าบริการ หรือประโยชน์ใด ๆ ซึ่งอาจคิดคำนวณได้เป็นเงิน
  ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 291) พ.ศ. 2539 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.118/2545 )
    มูลค่าของฐานภาษีไม่ให้รวมถึง
    (1) ส่วนลดหรือค่าลดหย่อน ที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ลดให้ในขณะขายสินค้า หรือให้บริการและได้หักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าวออกจากราคาสินค้าหรือราคาค่าบริการ โดยได้แสดงให้เห็นไว้ชัดแจ้งว่าได้มีการหักส่วนลดหรือค่าลดหย่อนไว้ในใบกำกับภาษีในแต่ละครั้งที่ออกแล้ว ทั้งนี้ เว้นแต่ส่วนลดหรือค่าลดหย่อนในการขายสินค้า หรือให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีสิทธิออกใบกำกับภาษีอย่างย่อตามมาตรา 86/6 หรือมาตรา 86/7 ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะไม่แสดงส่วนลดหรือค่าลดหย่อนดังกล่าว ให้เห็นชัดแจ้งไว้ในใบกำกับภาษีอย่างย่อก็ได้
    (2) ค่าชดเชยหรือเงินอุดหนุนตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
    (3) ภาษีขาย
    (4) ค่าตอบแทนที่มีลักษณะ และเงื่อนไขตามที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
( ดูคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร ที่ 33/2540 )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40) )

( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 120) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร กรณีการขายทองรูปพรรณซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องนำมูลค่าทองที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.39/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.49/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.53/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.54/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.73/2541 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.101/2543 )
   
    มาตรา 79/1 ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการในกิจการเฉพาะอย่างให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (1) ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าโดยการส่งออก ได้แก่ มูลค่าของสินค้าส่งออก โดยให้ใช้ราคา เอฟ.โอ.บี. ของสินค้าบวกด้วยภาษีสรรพสามิตตามที่กำหนดในมาตรา 77/1 (19) และภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา แต่ทั้งนี้ไม่ให้รวมอากรขาออก
    ราคา เอฟ.โอ.บี. ได้แก่ ราคาสินค้า ณ ด่านศุลกากรส่งออกโดยไม่รวมค่าประกันภัยและค่าขนส่งจากด่านศุลกากรส่งออกไปต่างประเทศ
    (2) ฐานภาษีสำหรับการให้บริการขนส่งระหว่างประเทศ
      (ก) ในกรณีรับขนคนโดยสาร ได้แก่ มูลค่าของค่าโดยสาร ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บในราชอาณาจักรก่อนหักรายจ่ายใดๆ เนื่องในการรับขนคนโดยสารนั้น
    ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.53/2537 )
    ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.55/2538 )

    (ข) ในกรณีรับขนสินค้า ได้แก่ มูลค่าของค่าระวาง ค่าธรรมเนียม และประโยชน์อื่นใดที่เรียกเก็บ ไม่ว่าในหรือนอกราชอาณาจักรก่อนหักรายจ่ายใดๆ เนื่องในการรับขนสินค้านั้นออกนอกราชอาณาจักร
    ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.49/2537 )
    ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.54/2537 )
    ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.55/2538 )
    (3) ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการในกิจการเฉพาะอย่างประเภทอื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
   
    มาตรา 79/2 ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้า ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (1) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าทุกประเภท ได้แก่ มูลค่าของสินค้านำเข้า โดยให้ใช้ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้าบวกด้วยอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต ตามที่กำหนดในมาตรา 77/1(19) ค่าธรรมเนียมพิเศษตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนและภาษีและค่าธรรมเนียมอื่นตามที่จะได้กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
    การนำเข้าสินค้าที่ผู้นำเข้าได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุนหรือตามกฎหมายอื่น ให้นำอากรขาเข้าซึ่งได้รับยกเว้นหรือลดหย่อนดังกล่าวมารวมเป็นมูลค่าของฐานภาษี
    ราคา ซี.ไอ.เอฟ. ได้แก่ราคาสินค้าบวกด้วยค่าประกันภัยและค่าขนส่งถึงด่านศุลกากรที่นำสินค้านั้นเข้าในราชอาณาจักร เว้นแต่
    (ก) ในกรณีที่อธิบดีกรมศุลกากรประกาศให้ราคาในท้องตลาด สำหรับของประเภทใดประเภทหนึ่งที่ ต้องเสียอากรตามราคาเป็นรายเฉลี่ยตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.
    (ข)ในกรณีที่เจ้าพนักงานศุลกากรได้ทำการประเมินราคาเพื่อเสียอากรขาเข้าใหม่ตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร ให้ถือราคานั้นเป็นราคาสินค้าในการคำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ.
    (2) ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ค) ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากรตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร อันทำให้ผู้ที่มีความรับผิดตามกฎหมายดังกล่าวหรือผู้รับโอนสินค้าที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1(3) ฐานภาษีสำหรับสินค้านั้น ได้แก่ มูลค่าตามสภาพหรือปริมาณของสินค้าที่เป็นอยู่ในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้นตามมาตรา 78/2 (4)
   
    มาตรา 79/3 การคำนวณมูลค่าของฐานภาษีสำหรับการขายสินค้าหรือการให้บริการตามมาตรา 79 ให้ถือมูลค่าของฐานภาษีเมื่อ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
    (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการ โดยไม่มีค่าตอบแทนหรือมีค่าตอบแทนต่ำกว่าราคาตลาด โดยไม่มีเหตุอันสมควร มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าหรือการให้บริการในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น
    (2) การขายสินค้าหรือการให้บริการในกรณีที่ผู้ประกอบการนำสินค้าไปใช้ หรือได้ใช้บริการ ไม่ว่าโดยตนเองหรือบุคคลอื่น โดยมิใช่เพื่อการประกอบกิจการโดยตรงตามมาตรา 77/1(8) (ง) หรือ (10) มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าหรือบริการในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น
    (3) การขายสินค้าตามมาตรา 77/1(8) (จ) ที่เกิดจากสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87 (3) หรือมาตรา 87 วรรคสอง มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดของสินค้าในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น
    (4) การขายสินค้าที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ตามมาตรา 80/1(5) และภายหลังได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในสินค้าอันทำให้ผู้รับโอนสินค้ามีหน้าที่ต้อง เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/1 (2) มูลค่าของฐานภาษี ให้ถือราคาตลาดตามสภาพหรือปริมาณของสินค้าที่เป็นอยู่ในวันที่ความรับผิดเกิดขึ้น
    (5) การขายสินค้าในกรณีผู้ประกอบการมีสินค้าคงเหลือ และหรือมีทรัพย์สินที่ผู้ประกอบการ มีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ มูลค่าของฐานภาษีให้ถือตามราคาตลาดในวันเลิกประกอบกิจการ
    ราคาตลาดตามมาตรานี้ ให้ถือราคาเฉลี่ยของราคาตลาดที่ซื้อขายกันตามความเป็นจริงทั่วไปในวันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ทั้งนี้ ตามที่ได้มีการตรวจสอบ ราคาตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด และในกรณีที่ไม่อาจทราบราคาตลาดได้แน่นอน ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจประกาศใช้เกณฑ์คำนวณเพื่อให้ได้มาซึ่งราคาตลาดได้
   
    มาตรา 79/4 ในกรณีที่มูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับหรือ พึงได้รับจากการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าเป็นเงินตราต่างประเทศ ให้คำนวณเงินตราต่างประเทศนั้น เป็นเงินตราไทยตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (1) ในกรณีได้รับเงินตราต่างประเทศจากการ ขายสินค้าหรือการให้บริการ และได้มีการขายเงินตราต่างประเทศ ที่ได้รับชำระนั้น เป็นเงินตราไทยในเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ถือเงินตราไทยจากการขายนั้นเป็นมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับ หรือพึงได้รับจากการขายสินค้า หรือการให้บริการแล้วแต่กรณี เว้นแต่มิได้มีการขายเงินตราต่างประเทศในเดือนที่ ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ให้ถือตามอัตราถัวเฉลี่ยที่ธนาคารพาณิชย์รับซื้อ ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยได้คำนวณไว้ในวันทำการสุดท้าย ของเดือนที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น
    (2) ในกรณีนำเข้าสินค้าให้คำนวณราคา ซี.ไอ.เอฟ. ของสินค้านำเข้าที่เป็นเงินตราต่างประเทศ เป็นเงินตราไทยตามอัตราที่กรมศุลกากรใช้คำนวณเพื่อเรียกเก็บอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.132/2548 )
   
    มาตรา 79/5 ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าและการขายซึ่ง ยาสูบตามประเภทและชนิดที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (1) สำหรับการนำเข้า ให้เป็นไปตามมาตรา 79/2
    ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.85/2542 )
    (2) สำหรับการขาย ได้แก่ มูลค่าของยาสูบที่ได้มาจากการหักจำนวน ภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของยาสูบ โดยให้คำนวณจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 10) )
   
มาตรา 79/6 ฐานภาษีสำหรับการนำเข้าและการขายซึ่งน้ำมันดิบ และผลิตภัณฑ์น้ำมันตามความหมาย ที่กำหนดไว้ในมาตรานี้ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
    (1) สำหรับการนำเข้า ให้เป็นไปตามมาตรา 79/2
    (2) สำหรับการขาย
      (ก) กรณีน้ำมันดิบให้เป็นไปตามมาตรา 79
    (ข) กรณีผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ละชนิด ได้แก่ มูลค่าของผลิตภัณฑ์น้ำมันชนิดนั้นที่ได้มาจากการหักจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มออกจากจำนวนเต็มของราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์น้ำมันดังกล่าว โดยให้คำนวณจำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มตามอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มที่รวมอยู่ในจำนวนเต็มของราคาขายปลีก
    ราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์น้ำมันแต่ละชนิดตามวรรคหนึ่ง ให้คำนวณตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
    คำว่า " น้ำมันดิบ " หมายความว่า น้ำมันดิบตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น โดยจะกำหนดเงื่อนไขอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่เห็นสมควรก็ได้
    คำว่า " ผลิตภัณฑ์น้ำมัน " หมายความว่า น้ำมันเบนซิน น้ำมันก๊าด น้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องบินไอพ่น น้ำมันดีเซล น้ำมันเชื้อเพลิงหนัก น้ำมันเตา น้ำมันหล่อลื่น ก๊าซปิโตรเลียมเหลว และผลิตภัณฑ์น้ำมันอื่น ทั้งนี้ เฉพาะสินค้าที่คณะกรรมการกลาง กำหนดราคาสินค้าและป้องกันการผูกขาดได้กำหนดราคาขายปลีกไว้
   
    มาตรา 79/7 ฐานภาษีสำหรับการขายสินค้า การให้บริการ หรือการนำเข้าสินค้าที่มิได้บัญญัติไว้ในส่วนนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา และในพระราชกฤษฎีกาจะกำหนดหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขใดๆ เพื่อการคำนวณมูลค่าของฐานภาษีสำหรับกิจการดังกล่าวด้วยก็ได้
  ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 245 ) พ.ศ. 2534 )
   



NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร > หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม > มาตรา 77_79