บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 40)
เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร



อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไขค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ 1  ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 9) เรื่อง กำหนดลักษณะ และเงื่อนไข ค่าตอบแทนที่ไม่ต้องนำมารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ลงวันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2534
ข้อ 2  ค่าตอบแทนที่ได้รับหรือพึงได้รับจากการขายสินค้าหรือการให้บริการดังต่อไปนี้ ไม่ต้องนำมารวมคำนวณเป็นมูลค่าของฐานภาษี
          (1) มูลค่าของสินค้าที่แถมพร้อมกับการขายสินค้า หรือการให้บริการไม่ว่าสินค้าที่แถมนั้นจะเป็นสินค้าประเภท และชนิดเดียวกับสินค้าที่ขายหรือบริการที่กระทำหรือไม่ แต่มูลค่าของสินค้าที่แถมจะต้องไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ
          (2) มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการที่ซื้อสินค้าหรือรับบริการในแต่ละวัน โดยมีมูลค่ารวมกันตามที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนกำหนด แต่มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นรางวัลต้องมีมูลค่าไม่เกินมูลค่าของสินค้าที่ขายหรือมูลค่าของการให้บริการ
          (3) มูลค่าของการให้บริการเนื่องจากการเป็นนายหน้าตัวแทนให้แก่ผู้ประกอบการในต่างประเทศ ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้ประกอบการในต่างประเทศดังกล่าวขายสินค้าหรือให้บริการกับผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการในต่างประเทศด้วยกัน
          “(4) มูลค่าของสินค้าที่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1(21) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ขายให้แก่ผู้ซื้อสินค้าในราชอาณาจักร และผู้ซื้อซึ่งเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตปลอดอากรแล้ว
                  ผู้ซื้อสินค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องมิใช่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1(21) แห่งประมวลรัษฎากร หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
          (5) มูลค่าของสินค้าที่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1(21) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ขายให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียน และผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร ดังกล่าวซึ่งเป็นผู้นำเข้าตามมาตรา 77/1(11) แห่งประมวลรัษฎากร ได้ยื่นกระทำพิธีการนำเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรเมื่อนำสินค้านั้นออกจากเขตปลอดอากรแล้ว
                ผู้ซื้อสินค้าตามวรรคหนึ่ง ต้องมิใช่ผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรตามมาตรา 77/1(21) แห่งประมวลรัษฎากร หรือคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 132) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป)
          “(6) มูลค่าของสินค้าที่แจกหรือให้เป็นของขวัญ เนื่องในพิธีหรือตามโอกาสแห่งขนบธรรมเนียมประเพณี เช่น เทศกาลปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ การเปิดแนะนำสินค้าใหม่ทั้งนี้ เฉพาะสินค้าที่เป็นปฏิทิน สมุดบันทึกประจำวัน (Diary) หรือสินค้าที่มีลักษณะทำนองเดียวกันของขวัญหรือของชำร่วยที่มีชื่อผู้ประกอบการ ชื่อการค้า หรือเครื่องหมายการค้าของผู้ประกอบการปรากฏอยู่ โดยของขวัญหรือของชำร่วยดังกล่าว ต้องเป็นสิ่งของที่พึงให้แก่กันตามประเพณีทางธุรกิจทั่วไป และต้องมีราคาหรือมูลค่าไม่เกินสมควร
          (7) มูลค่าของสินค้าตัวอย่างที่แจก เนื่องจากการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 55) ใช้บังคับ 1 สิงหาคม 2537 เป็นต้นไป)
          “(8) มูลค่าของอาหารและเครื่องดื่มที่นายจ้างจัดหาให้กับพนักงานหรือลูกจ้างในระหว่างเวลาปฏิบัติงาน ตามระเบียบเกี่ยวกับสวัสดิการของพนักงานหรือลูกจ้าง โดยมูลค่าของอาหารและเครื่องดื่มดังกล่าวต้องมีราคาไม่เกินสมควร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 78) ใช้บังคับ 1 สิงหาคม 2541 เป็นต้นไป)
          “(9) มูลค่าของสินค้าที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 82/16 แห่งประมวลรัษฎากร ได้ขายให้แก่ผู้ซื้อ โดยสินค้าดังกล่าวผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายได้นำเข้าจากต่างประเทศ และได้โอนสินค้าให้ผู้ซื้อยื่นใบขนสินค้าขาเข้าต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากร เพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ตามมาตรา 83/8 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ทั้งนี้ ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ขายสินค้าจะต้องมีสำเนาใบเสร็จรับเงินของกรมศุลกากรที่ออกให้ผู้ซื้อพร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมินตรวจสอบได้”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 80) ลงวันที่ 1 ตุลาคม 2541)
          “(10) มูลค่าของเครื่องแบบที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งเป็นนายจ้างได้มอบให้แก่ลูกจ้างในจำนวนคนละไม่เกินสองชุดต่อปี และเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี
                    “เครื่องแบบ” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า เครื่องแต่งกายรวมทั้งสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่กำหนดให้แต่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงรองเท้าที่อาจใช้งานได้ทั่วไป ชุดชั้นใน หรือสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยโลหะหรืออัญมณีมีค่า เช่น เงิน ทองคำ ทับทิม หยก
                    “เสื้อนอก” ตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึงชุดไทยพระราชทาน และเสื้อที่นิยมใช้ในการแต่งกายไปในงานสำคัญต่าง ๆ
          (11) มูลค่าของค่าตอบแทนที่พึงได้รับจากการมอบสินค้าให้ผู้ซื้อสินค้าทดสอบใช้งานก่อนซื้อ โดยสินค้าดังกล่าวไม่ใช่ของใช้สิ้นเปลืองและต้องเป็นสินค้าที่มีไว้สำหรับให้ทดลองใช้เป็นการชั่วคราว เพื่อทดลองคุณภาพหรือประสิทธิภาพของสินค้าเท่านั้น และผู้ซื้อสินค้าจะต้องส่งมอบสินค้าดังกล่าวคืนให้แก่ผู้ประกอบการจดทะเบียนผู้ขายสินค้าเมื่อทดลองใช้เสร็จ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 97) ลงวันที่ 29 ตุลาคม 2542)
          “(12) มูลค่าของสินค้าหรือบริการที่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ได้ขายหรือให้บริการแก่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ซึ่งเป็น
                    (ก) ผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
                    (ข) ผู้ขายสินค้าหรือให้บริการซึ่งได้ทำสัญญาเป็นหนังสือโดยตรงกับผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย
                    ผู้ประกอบการจดทะเบียนตามวรรคหนึ่ง ต้องทำสัญญากับผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเป็นหนังสือ และต้องจัดทำรายงานตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 102) ลงวันที่ 7 มกราคม 2543)
          “(13) มูลค่าของสลากวินโต๊ดและเปร๊สโต๊ดที่ผู้ประกอบการสนามแข่งม้าขายให้แก่ผู้เล่นพนันแข่งม้า เป็นจำนวนเท่ากับจำนวนเงินรางวัลที่จะต้องจ่ายคืนให้แก่ผู้เล่นพนันแข่งม้าดังกล่าว”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 103) ลงวันที่ 8 พฤษภาคม 2543)
          “(14) มูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ ทั้งนี้ เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายทองรูปพรรณซึ่งมีใบอนุญาตค้าของเก่าตามกฎหมายว่าด้วยการค้าของเก่า
                    ทองรูปพรรณตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ทองคำที่ทำสำเร็จเป็นเครื่องประดับกาย เครื่องแต่งกาย ของชำร่วย หรือสิ่งของต่าง ๆ ที่มีไว้เพื่อโชว์ ทั้งนี้ ต้องไม่มีอัญมณีประกอบอยู่ด้วย
                    ทองรูปพรรณตามวรรคสอง หมายความรวมถึงนากที่สามารถคำนวณราคารับซื้อคืนได้ตามส่วนของราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืน”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 117) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2544 เป็นต้นไป)
          “(15) มูลค่าของน้ำมันดีเซลที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ผลิตและขายตั้งแต่วันที่ 28 กันยายน พ.ศ.2544 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2544 ให้แก่ผู้ค้าน้ำมันที่จะนำน้ำมันดีเซลดังกล่าวไปขายให้แก่สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะนำน้ำมันดีเซลนั้นไปขายให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมงตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย
                    น้ำมันดีเซลตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดคุณภาพของน้ำมันดีเซลสำหรับการส่งไปขายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ตามที่กรมทะเบียนการค้าประกาศกำหนด และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด
                    ผู้ค้าน้ำมันตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ผู้กระทำการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่รวมถึงผู้กลั่นหรือผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือผู้ได้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
                    สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า เรือบรรทุกน้ำมันที่กรมศุลกากรอนุญาตให้ขนถ่ายน้ำมันดีเซลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อขายน้ำมันดีเซลให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมงตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย
                    เขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยตามวรรคหนึ่ง วรรคสองและวรรคสี่ หมายความว่า เขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยตามพระบรมราชโองการประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ.2538”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 120) ใช้บังคับ 28 กันยายน 2544 ถึง 31 ธันวาคม 2544)
          “(16) มูลค่าของน้ำมันดีเซลที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ผลิตและขายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2545 เป็นต้นไป ให้แก่ผู้ค้าน้ำมันที่จะนำน้ำมันดีเซลดังกล่าวไปขายให้แก่สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ซึ่งจะนำน้ำมันดีเซลนั้นไปขายให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมง ตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย
                    ”น้ำมันดีเซลตามวรรคหนึ่ง ต้องมีคุณสมบัติตามข้อกำหนดคุณภาพของ น้ำมันดีเซลสำหรับการส่งไปขายในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ตามที่กรมพัฒนาธุรกิจ การค้าประกาศกำหนด และเป็นไปตามเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 146 ) ใช้บังคับ 11 ตุลาคม 2545 เป็นต้นไป )
                    ผู้ค้าน้ำมันตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า ผู้กระทำการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ไม่รวมถึงผู้กลั่นหรือผู้ผลิตน้ำมันเชื้อเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการค้าน้ำมันเชื้อเพลิง หรือผู้ได้รับสัมปทานตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม
                    สถานีบริการจำหน่ายน้ำมันกลางทะเลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า เรือบรรทุกน้ำมันที่กรมศุลกากรอนุญาตให้ขนถ่ายน้ำมันดีเซลในเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย เพื่อขายน้ำมันดีเซลให้แก่เรือจดทะเบียนสำหรับการประมงตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย
                    เขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยตามวรรคหนึ่ง วรรคสอง และวรรคสี่ หมายความว่า เขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทยตามพระบรมราชโองการประกาศเขตต่อเนื่องของราชอาณาจักรไทย ลงวันที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2538"
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 133) ใช้บังคับ 19 สิงหาคม 2545 เป็นต้นไป)
          “(17) มูลค่าของการให้บริการรับประกันวินาศภัยตามกฎหมายว่าด้วยการประกันวินาศภัยของผู้ประกอบการจดทะเบียน เฉพาะการให้บริการแก่บรรษัทประกันต่อแห่งเอเชียที่กระทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2542 เป็นต้นไป“
(เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 148) ใช้บังคับ 28 พฤศจิกายน 2545 เป็นต้นไป)
         “(18) มูลค่าของการให้บริการขนส่งก๊าซทางท่อที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนให้บริการแก่ผู้รับบริการซึ่งเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งได้ทำสัญญาซื้อขายก๊าซธรรมชาติที่ผลิตในพื้นที่พัฒนา ร่วมกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซียและผู้ทำสัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ทั้งนี้ เฉพาะการให้บริการขนส่งก๊าซซึ่งผลิตจากเขตพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย เท่านั้น
       พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า พื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย และองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย ตามกฎหมายว่าด้วยองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย”
(เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 150) ใช้บังคับ 28 มกราคม 2546 เป็นต้นไป)
         “(19) มูลค่าของทรัพย์สินหรือสินค้าซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติในลักษณะทำนองเดียวกัน
         (20) มูลค่าของทรัพย์สินที่ใช้ในการประกอบกิจการซึ่งผู้ประกอบการ จดทะเบียนบริจาคให้แก่ส่วนราชการตามโครงการของทางราชการ เพื่อให้แก่สถานศึกษาของทางราชการ สถาบันอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน หรือสถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน”
(เพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 156) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2546 เป็นต้นไป)

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2535 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2535

ม.ร.ว.จัตุมงคล โสณกุล
อธิบดีกรมสรรพากร


NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร > เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 40