บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  ประกาศกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
เรื่อง ขยายกำหนดเวลายื่นรายการเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม ของผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของห้องชุด



ตามที่กรมสรรพากรได้ออกประกาศกรมสรรพากร เรื่อง ขยายกำหนดเวลายื่นรายการเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของห้องชุด ลงวันที่ 25 กันยายนพ.ศ. 2540 เพื่อขยายกำหนดเวลายื่นรายการเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของห้องชุด ซึ่งนำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีของนิติบุคคลอาคารชุดที่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 33/2540 มาเครดิตออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยไม่ต้องเสียเบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และไม่ต้องรับผิดทางอาญา นั้น
เนื่องจากยังมีผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของห้องชุดอีกเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถใช้สิทธิได้ทันภายในกำหนดเวลาตามประกาศกรมสรรพากรดังกล่าว จึงต้องรับผิดในการที่นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีของนิติบุคคลอาคารชุดที่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยฯ มาใช้ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังโดยอาศัยอำนาจตามความใน มาตรา 3 อัฏฐ วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร จึงขยายกำหนดเวลายื่นรายการเพื่อชำระภาษีมูลค่าเพิ่มของผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของห้องชุดออกไปอีกครั้งหนึ่ง ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้
ข้อ 1  เจ้าของห้องชุดที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ซึ่งต้องคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 82/3 แห่งประมวลรัษฎากร และได้ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน เนื่องจากได้นำภาษีซื้อตามใบกำกับภาษีของนิติบุคคลอาคารชุดที่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 33/2540 มาเครดิตออกจากภาษีขายในการคำนวณภาษี ไม่ว่าผู้ประกอบการจดทะเบียนนั้น จะได้รับแจ้งการประเมินหรือคำสั่งให้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว หรืออยู่ระหว่างถูกเรียกตรวจสอบไต่สวน หรืออยู่ระหว่างการอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือต่อศาล ถ้าได้ยื่นรายการปรับปรุงภาษีซื้อตามแบบแสดงรายการที่ได้ยื่นไว้เดิม พร้อมกับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มภายในระยะเวลาตามที่กำหนดใน ข้อ 5 แล้ว ผู้ประกอบการนั้นไม่ต้องเสียเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม รวมทั้งไม่ต้องรับผิดทางอาญาสำหรับภาษีมูลค่าเพิ่มในกรณีดังกล่าว
ข้อ 2  นิติบุคคลอาคารชุดที่เข้าลักษณะตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากรที่ 33/2540 ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2540 ตาม ข้อ 1 ได้แก่ นิติบุคคลอาคารชุดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด ซึ่งกระทำกิจการเฉพาะตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดดังต่อไปนี้ทำให้ไม่เข้าลักษณะเป็นผู้ประกอบการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 77/2 แห่งประมวลรัษฎากร จึงไม่ต้องนำเงินกองทุน ค่าใช้จ่ายส่วนกลาง และค่าสาธารณูปโภคที่เป็นค่าไฟฟ้า น้ำประปา โทรศัพท์ หรือค่าใช้จ่ายที่จำเป็นอย่างอื่นที่เรียกเก็บจากเจ้าของห้องชุด มารวมคำนวณเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
(1) นิติบุคคลอาคารชุดต้องกระทำกิจการเฉพาะเพื่อจัดการและดูแลรักษาทรัพย์ส่วนกลางหรือกระทำการใดๆ เพื่อประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายว่าด้วยอาคารชุดกำหนดไว้
(2) นิติบุคคลอาคารชุดต้องไม่กระทำกิจการใดนอกเหนือจากวัตถุประสงค์ตามที่กฎหมายว่าด้วยอาคารชุดกำหนดไว้
(3) นิติบุคคลอาคารชุดต้องไม่ขายสินค้าหรือให้บริการใดกับบุคคลอื่น ซึ่งมิใช่เจ้าของห้องชุดนั้น
(4) กิจการตามวัตถุประสงค์ตาม (1) ต้องเป็นกิจการซึ่งตามปกติวิสัยในการจัดการดูแลรักษาอาคารชุดเป็นกิจการที่จำเป็นและสมควร
ข้อ 3  ในกรณีที่มีภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 1 อยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือศาล เจ้าของห้องชุดที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนต้องทำคำร้องเป็นหนังสือขอถอนอุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ หรือถอนฟ้องต่อศาลในกรณีที่เป็นโจทก์ หรือทำคำร้องเป็นหนังสือขอให้กรมสรรพากรถอนฟ้องกรณีที่เป็นจำเลย และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์หรือศาลได้อนุมัติหรืออนุญาตแล้ว
ข้อ 4  ในกรณีเจ้าของห้องชุดที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 1 ได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มไว้แล้ว คงค้างเฉพาะเบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ถ้าได้ยื่นคำร้องขอก็ให้ได้รับประโยชน์ตามประกาศนี้ด้วย โดยให้นำความในข้อ 5 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
ข้อ 5  เจ้าของห้องชุดที่เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ที่ประสงค์จะได้รับสิทธิประโยชน์ตามประกาศนี้ ให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด พร้อมกับชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2542 ถึงวันที่ 30 เมษายนพ.ศ.2543
การยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่ง ให้ยื่น ณ ที่ว่าการอำเภอหรือเขตท้องที่ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้เดิม เว้นแต่ภาษีมูลค่าเพิ่มที่เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินหรือมีคำสั่งให้เสีย ให้ชำระ ณ ที่ว่าการอำเภอหรือเขตท้องที่ ซึ่งเจ้าพนักงานประเมินสั่งให้ชำระ
ข้อ 6  การขอชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามประกาศนี้ ถ้ามีภาษีที่ต้องชำระทุกกรณีรวมกันตั้งแต่ 600,000 บาท ขึ้นไป จะยื่นคำร้องขอผ่อนชำระเป็นงวดรายเดือน งวดละเท่าๆ กัน ไม่เกิน 12 งวด ก็ได้ โดยงวดแรกต้องชำระพร้อมกับการยื่นแบบตามข้อ 5 งวดที่สองให้ชำระภายในเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2543 และงวดสุดท้ายให้ชำระภายในเดือน มีนาคม พ.ศ.2544
ในกรณีที่เห็นเป็นการสมควรและมีคำร้องขอ อธิบดีกรมสรรพากรจะอนุมัติให้ผ่อนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มมากกว่า 12 งวด ก็ได้ กรณีดังกล่าวให้ผ่อนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ตามงวดที่อธิบดีกรมสรรพากรอนุมัติก็ได้
การผ่อนชำระภาษีมูลค่าเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ต้องเสียเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 1.5 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน ของภาษีมูลค่าเพิ่มที่ต้องชำระ โดยให้เริ่มคิดเงินเพิ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ.2543 จนถึงวันชำระ และต้องมีธนาคารค้ำประกัน หรือมีหลักประกัน หรือมีผู้ค้ำประกันที่อธิบดีกรมสรรพากรเห็นสมควร
ข้อ 7  ภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผ่อนชำระตามข้อ 6 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ถ้ามิได้ชำระภายในกำหนดเวลาตามข้อ 6 วรรคหนึ่ง หรือภายในกำหนดเวลาตามข้อ 6 วรรคสอง แล้วแต่กรณี ให้หมดสิทธิได้รับประโยชน์ตามประกาศนี้ เฉพาะภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับงวดที่มิได้ชำระตามกำหนดเวลา รวมทั้งงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระทั้งหมดด้วย เว้นแต่จะได้นำภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับงวดที่ผิดนัด และงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระดังกล่าว มาชำระภายในเวลาของงวดถัดจากงวดที่ผิดนัด
ข้อ 8  ประกาศนี้ไม่มีผลต่อภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับหรือเงินเพิ่ม ที่ได้ชำระไปแล้ว ก่อนหรือในวันที่ที่ลงในประกาศนี้
ข้อ 9  อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและสถานที่ชำระภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อปฏิบัติการตามประกาศนี้ได้ตามที่เห็นสมควร

ประกาศ ณ วันที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542

เกรียงศักดิ์ วัฒนวรางกูร
รองอธิบดี รักษาราชการแทน
อธิบดีกรมสรรพากร


NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > ประกาศกรมสรรพากร > ขยายกำหนดเวลาฯ เจ้าของห้องชุด