บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น
ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร
หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
หมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน
หมวด 3 ภาษีเงินได้
หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ
หมวด 5 ภาษีป้าย (ยกเลิก)
หมวด 6 อากรแสตมป์
หมวด 7 อากรมหรสพ (ยกเลิก)
ลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ (ยกเลิก)
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
    มาตรา 87 ภายใต้บังคับมาตรา 87/1 และมาตรา 87/2 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่จัดทำรายงานเกี่ยวกับการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มดังต่อไปนี้
    (1) รายงานภาษีขาย
    (2) รายงานภาษีซื้อ
    (3) รายงานสินค้าและวัตถุดิบ เฉพาะผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ประกอบกิจการขายสินค้า
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.45/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.51/2537 )
    ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 82/16 ให้มีหน้าที่จัดทำรายงานมูลค่าของฐานภาษี และรายงานสินค้าและวัตถุดิบ
    รายงานที่ต้องจัดทำตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด และให้จัดทำเป็นรายสถานประกอบการ
    วิธีลงรายการในรายงาน ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด และการลงรายการให้ลงภายในสามวันทำการนับแต่วันที่ได้มาหรือจำหน่ายออกไปซึ่งสินค้าหรือบริการนั้น ทั้งนี้ เว้นแต่ในกรณีจำเป็นอธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่นตามที่เห็นสมควรก็ได้
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.51/2537 )
   
    มาตรา 87/1 ในกรณีที่มีความจำเป็นหรือเหมาะสม อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงานแตกต่างไปจากที่กำหนดในมาตรา 87 ก็ได้
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 104) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.45/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.51/2537 )
   
    มาตรา 87/2 ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดให้ตัวแทนของผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงานเกี่ยวกับกิจการที่ตนทำการแทนได้ตามที่เห็นสมควร แม้ว่าตัวแทนนั้นจะมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
    การจัดทำรายงานของตัวแทนตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามแบบ หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 24) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.45/2537 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.51/2537 )
   
    มาตรา 87/3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษี และผู้มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงานตามบทบัญญัติในส่วนนี้ เก็บและรักษารายงานใบกำกับภาษี สำเนาใบกำกับภาษี พร้อมทั้งเอกสารประกอบการลงรายงานดังกล่าว หรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกำหนดไว้ ณ สถานประกอบการที่จัดทำรายงานนั้น หรือสถานที่อื่นที่อธิบดีกำหนด เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือวันทำรายงานแล้วแต่กรณี เว้นแต่  
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.71/2540 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.116/2545 )
    (1) ในกรณีผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราวตามมาตรา 85/3 การเก็บรักษารายงานและเอกสารดังกล่าว ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และระยะเวลาที่อธิบดีกำหนด แต่ระยะเวลาดังกล่าวต้องไม่เกินกว่าห้าปี
    (2) ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนเลิกประกอบกิจการ ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียน หรือผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษี หรือผู้มีหน้าที่ต้องจัดทำรายงาน เก็บและรักษารายงานและเอกสารดังกล่าวข้างต้น ที่ตนมีหน้าที่ต้องเก็บรักษาอยู่ในวันเลิกประกอบกิจการต่อไปอีกสองปี
    (3) ในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีจะกำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนเก็บและรักษาไว้เกินห้าปีก็ได้ แต่ต้องไม่เกินเจ็ดปี
    การเก็บใบกำกับภาษีและเอกสารหลักฐานอื่นที่ใช้ประกอบการลงรายงานภาษีซื้อตามมาตรา 87 (2) ให้จัดเก็บเรียงตามลำดับ และตรงตามรายการในรายงานและเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 54) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 89) )
   
    มาตรา 88 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหมวดนี้ในเมื่อ
    (1) ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าภายในเวลาที่กฎหมายกำหนด
    (2) ในกรณีเจ้าพนักงานประเมินมีหลักฐานแสดงว่า ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้า โดยแสดงจำนวนภาษีที่ต้องเสียต่ำกว่าความเป็นจริง
    (3) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของเจ้าพนักงานประเมิน หรือไม่ยอมตอบคำถามของเจ้าพนักงานประเมินโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร
    (4) ผู้ประกอบการไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อ หรือสำเนาใบกำกับภาษีในกรณีภาษีขาย พร้อมทั้งหลักฐานอื่นเพื่อการคำนวณภาษีหรือการเครดิตภาษี
    (5) ผู้ประกอบการไม่เก็บสำเนาใบกำกับภาษีในกรณีภาษีขายและหลักฐานต่าง ๆ ประกอบการลงรายงานตามที่กฎหมายกำหนดไว้ หรือ
    (6) ปรากฏแก่เจ้าพนักงานประเมินว่า ผู้ประกอบการซึ่งต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/1 มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
   
    มาตรา 88/1 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับ และเงินเพิ่มตามหมวดนี้ ในเมื่อปรากฏว่าบุคคลใดออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 โดยให้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจประเมินภาษีมูลค่าเพิ่มตามจำนวนที่ปรากฏในใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้นได้
 
    มาตรา 88/2 เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามมาตรา 88 และมาตรา 88/1 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจ
    
(1) จัดทำรายการลงในแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าตามหลักฐานที่เห็นว่าถูกต้อง เมื่อผู้มีหน้าที่เสียภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้า
    (2) แก้ไขเพิ่มเติมรายการในแบบแสดงรายการภาษี แบบนำส่งภาษี หรือแบบใบขนสินค้าเพื่อให้ถูกต้อง
    (3) ประเมินภาษีในกรณีที่มีหลักฐานแสดงว่า ผู้ประกอบการเสียภาษีหรือแสดงมูลค่าของฐานภาษีต่ำกว่าความเป็นจริง
    (4) กำหนดมูลค่าที่ควรได้รับ โดยพิจารณาถึงฐานะความเป็นอยู่ หรือพฤติการณ์ของผู้ประกอบการ หรือสถิติการค้าของผู้ประกอบการเอง หรือของผู้ประกอบการที่กระทำกิจการทำนองเดียวกัน หรือพิจารณาจากหลักเกณฑ์ อย่างอื่นอันอาจแสดงมูลค่าที่ได้รับโดยสมควร
    (5) แก้ไขเปลี่ยนแปลงมูลค่าของสินค้าที่ซื้อ หรือของค่าบริการจากการรับบริการแล้วแต่กรณี เมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (3) (4) หรือ (5)
    
(6) ประเมินภาษีตามที่รู้เห็น หรือพิจารณาว่าถูกต้อง เมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (3) (4) หรือ (5) โดยไม่จำต้องปฏิบัติตาม (1) ถึง (4) ก็ได้
    ในการใช้อำนาจของเจ้าพนักงานประเมินเมื่อมีกรณีตามมาตรา 88 (6) ให้ถือว่าผู้ประกอบการซึ่งต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/1 แต่มิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม มีความรับผิดในการเสียภาษีเสมือนเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน
   
    มาตรา 88/3 เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจเข้าไปในสถานประกอบการของผู้ประกอบการ ไม่ว่าจะเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือไม่ หรือในสถานที่อื่นที่เกี่ยวข้องระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือระหว่างเวลาทำการของผู้ประกอบการ และทำการตรวจสอบเพื่อให้ทราบว่าผู้ประกอบการได้ปฏิบัติการโดยถูกต้องตามบทบัญญัติในหมวดนี้หรือไม่ ในการนี้เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจสั่งผู้ประกอบการ หรือบุคคลที่อยู่ในสถานที่นั้นให้ปฏิบัติการ เท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบเอกสารหลักฐานต่าง ๆ อันควรแก่เรื่อง และมีอำนาจยึดเอกสารหลักฐานเหล่านั้นมาตรวจสอบไต่สวนได้
    ในการดำเนินการตามวรรคหนึ่ง ให้เจ้าพนักงานประเมินแสดงบัตรประจำตัว พร้อมทั้งหนังสือหรือหลักฐานต่อผู้ที่เกี่ยวข้องเมื่อเข้าไปทำการตรวจสอบ
   
    มาตรา 88/4 ในการดำเนินการของเจ้าพนักงานประเมินในส่วนนี้ เจ้าพนักงานประเมินมีอำนาจออกหมายเรียกผู้มีหน้าที่เสียภาษี ผู้ทำการแทน หรือพยาน กับมีอำนาจสั่งบุคคลเหล่านั้นให้นำบัญชี เอกสาร หรือหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาตรวจสอบไต่สวนได้ หรือออกคำสั่งให้พยานตอบคำถามเป็นหนังสือ แต่จะต้องให้เวลาล่วงหน้าไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน นับแต่วันได้รับหมายเรียกหรือได้รับคำสั่ง
   
    มาตรา 88/5 เมื่อเจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 88 หรือมาตรา 88/1 แล้ว ให้แจ้งการประเมินเป็นหนังสือไปยังผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือบุคคลตามมาตรา 88/1 ในกรณีนี้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือบุคคลตามมาตรา 88/1 จะใช้สิทธิอุทธรณ์การประเมินตามบทบัญญัติในส่วน 2 ของหมวด 2 ลักษณะ 2 ก็ได้ เว้นแต่ในกรณีที่เจ้าพนักงานประเมินได้ทำการประเมิน เพราะเหตุตามมาตรา 88 (3) ห้ามมิให้อุทธรณ์
 
    มาตรา 88/6 การประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ให้กระทำได้ภายในกำหนดเวลา ดังต่อไปนี้
    (1) สำหรับผู้ประกอบการ
        (ก) สองปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาที่รัฐมนตรี หรืออธิบดีขยายหรือเลื่อนออกไป แล้วแต่วันใดจะเป็นวันหลัง ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษีได้ยื่น แบบแสดงรายการภาษีภายในกำหนดเวลาดังกล่าว
        (ข) สองปีนับแต่วันที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษี ทั้งนี้ เฉพาะในกรณีที่ผู้มีหน้าที่เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีหลังวันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลาดังกล่าวใน (ก) แต่ต้องไม่เกินสิบปีนับแต่วันสุดท้าย แห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี
        (ค) สิบปีนับแต่วันสุดท้ายแห่งกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษี โดยแสดงฐานภาษีต่ำกว่ามูลค่าที่ผู้ประกอบการได้รับหรือพึงได้รับเป็นจำนวนเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของฐานภาษีที่แสดงในแบบแสดงรายการภาษี
    (2) สำหรับผู้นำเข้าซึ่งมิใช่ผู้ประกอบการสองปีนับแต่วันยื่นใบขนสินค้า เว้นแต่กรณีที่ผู้นำเข้ามีข้อโต้แย้งตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเป็นคดีในศาล สองปีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยข้อโต้แย้งอากรขาเข้า เป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด แล้วแต่กรณี
    (3) สำหรับผู้ที่มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 มาตรา 83/6 หรือมาตรา 83/7 สองปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลานำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม
    ในกรณีมีเหตุอันควรเชื่อว่า ผู้ประกอบการ ผู้นำเข้า หรือผู้มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่ม แสดงรายการตามแบบแสดงรายการภาษี แบบใบขนสินค้า หรือแบบนำส่งภาษีไม่ถูกต้องตามความเป็นจริงหรือไม่สมบูรณ์ ให้เจ้าพนักงานประเมินโดยอนุมัติอธิบดีประเมินภาษีได้ภายในกำหนดเวลาห้าปีนับแต่กำหนดเวลาตาม (1) (ก) (2) และ (3) แล้วแต่กรณี
   

    มาตรา 89 ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษี หรือบุคคลตามมาตรา 86/13 เสียเบี้ยปรับในกรณีและตามอัตราดังต่อไปนี้
    (1) ประกอบกิจการโดยมิได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85 หรือมาตรา 85/1 หรือประกอบกิจการเมื่อถูกสั่งเพิกถอนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/17 แล้ว ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียในเดือนภาษี ตลอดระยะเวลาที่ไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติดังกล่าว หรือเป็นเงินหนึ่งพันบาทต่อเดือนภาษีแล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
    (2) มิได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลา ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษี
    (3) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีหรือแบบนำส่งภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีที่ต้องเสียหรือนำส่งในเดือนภาษีคลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินภาษีที่เสียคลาดเคลื่อนหรือที่นำส่งคลาดเคลื่อน
    (4) ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาด อันเป็นเหตุให้จำนวนภาษีขายหรือจำนวนภาษีซื้อในเดือนภาษีที่แสดงไว้คลาดเคลื่อนไป ให้เสียเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของจำนวนภาษีขายที่แสดงไว้ขาดไป หรือจำนวนภาษีซื้อที่แสดงไว้เกินไป
    (5) มิได้จัดทำใบกำกับภาษี และส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้า หรือผู้รับบริการตามที่กำหนดในส่วน 10 ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี
    (6) ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ โดยไม่มีสิทธิที่จะออกตามกฎหมายตามมาตรา 86/13 ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้นั้น
    (7) นำใบกำกับภาษีปลอม ไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วนมาใช้ในการคำนวณภาษี ให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษีนั้น
    ในกรณีใบกำกับภาษีที่ผู้ได้รับประโยชน์ไม่สามารถนำพิสูจน์ได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษี ให้ถือว่าเป็นใบกำกับภาษีปลอม
    (8) มิได้เก็บสำเนาใบกำกับภาษีในกรณีภาษีขายไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกร้อยละสองของจำนวนภาษีตามใบกำกับภาษี
    
(9) มิได้เก็บใบกำกับภาษีในกรณีภาษีซื้อที่ใช้เครดิตภาษีในการคำนวณภาษีไว้ตามที่กฎหมายกำหนด ให้เสียเบี้ยปรับอีกอัตราร้อยละสองของจำนวนภาษีที่นำเครดิตนั้น
    (10) มิได้ทำรายงานตามที่กฎหมายกำหนด หรือรายงานอื่นตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1 หรือมีสินค้าขาดจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบให้เสียเบี้ยปรับอีกสองเท่าของเงินภาษี ซึ่งคำนวณจากฐานภาษีที่มิได้ทำรายงาน หรือมิได้ลงรายการในรายงานให้ถูกต้อง

    เบี้ยปรับตามมาตรานี้อาจงดหรือลดลงได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.81/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.120/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.121/2545 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.140/2547 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.92/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.98/2543 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.117/2545 )
   
    มาตรา 89/1 บุคคลใดไม่ชำระภาษีหรือนำส่งภาษีให้ครบถ้วนภายในกำหนดเวลาตามบทบัญญัติในหมวดนี้ ให้เสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน หรือเศษของเดือนของเงินภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่งโดยไม่รวมเบี้ยปรับ
    
ในกรณีที่อธิบดีอนุมัติให้ขยายเวลาเสียภาษีตามที่กำหนดในมาตรา 3 อัฏฐ และได้มีการชำระภาษีหรือนำส่งภาษีภายในกำหนดเวลาที่ขยายให้นั้น เงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งให้ลดลงเหลือร้อยละ 0.75 ต่อเดือนหรือเศษของเดือน
    การคำนวณเงินเพิ่มตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เริ่มนับเมื่อพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษี หรือยื่นแบบนำส่งภาษีตามส่วน 7 จนถึงวันชำระภาษีหรือนำส่งภาษีแต่เงินเพิ่มที่คำนวณได้มิให้เกินจำนวนภาษีที่ต้องชำระหรือนำส่ง
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.81/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.98/2543 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ป.117/2545 )
   
    มาตรา 89/2 เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษีอากร เบี้ยปรับและเงินเพิ่มตามหมวดนี้ให้ถือเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม
   
    มาตรา 90 บุคคลดังต่อไปนี้ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองพันบาท
    (1) ผู้ไม่จัดส่งสำเนาสัญญาหรือเอกสารตามมาตรา 77/4 (2)
    (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 83 หรือ มาตรา 83/1
    (3) ผู้มีหน้าที่เสียภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 83/2
    (4) ผู้มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามมาตรา 83/3
    (5) ผู้มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มไม่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 83/5 มาตรา 83/6 หรือ มาตรา 83/7
    (6) ผู้นำเข้าไม่ยื่นใบขนสินค้าตามมาตรา 83/8 หรือมาตรา 83/9
    (7) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการเปลี่ยนแปลงรายการทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/6
    (8) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่คืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/7 วรรคสาม มาตรา 85/8 วรรคสอง มาตรา 85/15 วรรคสอง หรือมาตรา 85/17 วรรคสอง
    (9) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการย้ายสถานประกอบการตามมาตรา 85/8 วรรคหนึ่ง
    (10) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการหยุดประกอบกิจการชั่วคราวตามมาตรา 85/12
    (11) ผู้ครอบครองทรัพย์มรดก ผู้จัดการมรดก หรือทายาทของผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่คืนใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/16 วรรคสามหรือวรรคห้า
    (12) ผู้ประกอบการจดทะเบียนออกใบกำกับภาษี ใบกำกับภาษีอย่างย่อ ใบเพิ่มหนี้ หรือ ใบลดหนี้ โดยมีรายการในส่วนที่เป็นสาระสำคัญไม่ครบถ้วนตามมาตรา 86/4 มาตรา 86/5 มาตรา 86/6 มาตรา 86/7 มาตรา 86/9 มาตรา 86/10 หรือ มาตรา 86/11
    
(13) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ออกใบแทนใบกำกับภาษี ใบแทนใบเพิ่มหนี้ หรือใบแทนใบลดหนี้ ตามมาตรา 86/12
    (14) ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสินค้าเกินจากรายงานสินค้าและวัตถุดิบตามมาตรา 87
    (15) ผู้ประกอบการจดทะเบียนจัดทำรายงาน โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 87 หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1
    (16) ผู้ประกอบการจดทะเบียนจงใจไม่เก็บและรักษาใบกำกับภาษี หรือสำเนาใบกำกับภาษี หรือเก็บรักษาเอกสารดังกล่าว โดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตาม มาตรา 87/3
   
    มาตรา 90/1 บุคคลดังต่อไปนี้ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท
    (1) ตัวแทนละเลยไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรตามมาตรา 85/2
    (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แสดงใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 85/4
    (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการเปิดสถานประกอบการเพิ่มเติม หรือปิดสถานประกอบการตามมาตรา 85/7 วรรคหนึ่งหรือวรรคสอง
    (4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการโอนกิจการบางส่วนหรือการรับโอนกิจการตามมาตรา 85/13
    (5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่แจ้งการเลิกหรือการโอนกิจการทั้งหมดตามมาตรา 85/13 หรือ มาตรา 85/15 วรรคหนึ่ง
    (6) ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร จัดทำรายงานโดยไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามมาตรา 87/2
   
    มาตรา 90/2 บุคคลดังต่อไปนี้ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามมาตรา 82/18 (2)
    (2) ผู้ประกอบการใดซึ่งมีหน้าที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ประกอบกิจการโดยไม่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ตามมาตรา 85/1 มาตรา 85/13 วรรคสอง หรือมาตรา 85/14
    (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่จัดทำใบกำกับภาษีหรือสำเนาใบกำกับภาษี หรือจัดทำแล้วไม่ส่งมอบให้ผู้ซื้อ หรือผู้รับบริการตามมาตร า86 วรรคหนึ่ง หรือไม่จัดทำใบกำกับภาษีหรือสำเนา ใบกำกับภาษี และไม่ส่งมอบให้ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการ ตามที่ผู้ซื้อหรือผู้รับบริการเรียกร้อง ตามมาตรา 86/8 วรรคสอง
    (4) ผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มชั่วคราว ออกใบกำกับภาษีที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 86 วรรคสอง
    (5) ตัวแทนออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 86 วรรคสี่
    (6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ปฏิบัติตามระเบียบเกี่ยวกับการใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินตามมาตรา 86/6 วรรคหก
    (7) ผู้ไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกหรือคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 88/4
   
    มาตรา 90/3 บุคคลดังต่อไปนี้ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    
(1) ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 86/2 วรรคสอง
    (2) ผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินโดยไม่ได้รับอนุมัติตามมาตรา 86/6 วรรคหก หรือมาตรา 86/7
    (3) ผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่จัดทำรายงานตามมาตรา 87 หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1
    (4) ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักรไม่จัดทำรายงานตามมาตรา 87/2
    (5) ผู้ขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแก่การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานประเมิน หรือขัดคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมินตามมาตรา 88/3 วรรคหนึ่ง
   
    มาตรา 90/4 บุคคลดังต่อไปนี้ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติที่ระบุไว้ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สามเดือนถึงเจ็ดปี และปรับตั้งแต่สองพันบาทถึงสองแสนบาท
    (1) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิที่จะออกเอกสารดังกล่าวตามมาตรา 86 วรรคสอง หรือ มาตรา 86/1
    (2) ตัวแทนผู้ประกอบการจดทะเบียนที่อยู่นอกราชอาณาจักร โดยเจตนาหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกใบกำกับภาษีโดยไม่มีสิทธิตามมาตรา 86/2 วรรคหนึ่ง
    (3) ผู้ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้โดยไม่มีสิทธิจะออก เอกสารดังกล่าวตามมาตรา 86/13
    (4) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ลงรายการ หรือลงรายการเป็นเท็จในรายงานตามมาตรา 87 หรือตามที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 87/1
    (5) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มไม่ออกใบกำกับภาษี ใบเพิ่มหนี้ หรือใบลดหนี้ หรือใบแทนเอกสารดังกล่าว
    (6) ผู้ประกอบการจดทะเบียนโดยเจตนาหลีกเลี่ยง หรือพยายามหลีกเลี่ยงภาษีมูลค่าเพิ่มกระทำการใด ๆ โดยความเท็จ โดยฉ้อโกงหรืออุบาย หรือโดยวิธีการอื่นใดทำนองเดียวกัน
    (7) ผู้ประกอบการโดยเจตนานำใบกำกับภาษีปลอม หรือใบกำกับภาษีที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายไปใช้ในการเครดิตภาษี
 
    มาตรา 90/5 ในกรณีที่ผู้กระทำความผิดซึ่งต้องรับโทษตามหมวดนี้เป็นนิติบุคคล กรรมการผู้จัดการ ผู้จัดการ หรือผู้แทนของนิติบุคคลนั้น ต้องรับโทษตามที่บัญญัติไว้สำหรับความผิดนั้น ๆ ด้วย เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าตนมิได้ยินยอม หรือมีส่วนในการกระทำความผิดของนิติบุคคลนั้น
 



NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร > หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม > มาตรา 87_90