บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น
ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร
หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
หมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน
หมวด 3 ภาษีเงินได้
หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ
หมวด 5 ภาษีป้าย (ยกเลิก)
หมวด 6 อากรแสตมป์
หมวด 7 อากรมหรสพ (ยกเลิก)
ลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ (ยกเลิก)
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
    มาตรา 83 ภายใต้บังคับมาตรา 83/1 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามแบบที่อธิบดีกำหนด โดยให้ยื่นเป็นรายเดือนภาษีพร้อมกับชำระภาษีถ้ามี ไม่ว่าจะได้ขายสินค้าหรือให้บริการในเดือนภาษีนั้นหรือไม่ก็ตาม
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.112/2545 )
    การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษีสำหรับเดือนภาษีใด ให้ยื่นภายในวันที่สิบห้าของเดือนถัดไป เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดเป็นอย่างอื่น
    การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษี ให้ยื่นและชำระ ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ ทั้งนี้ เว้นแต่อธิบดีจะกำหนดสถานที่เป็นอย่างอื่น
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 115) )
    ถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง การยื่นแบบแสดงรายการภาษีและการชำระภาษี ให้แยกยื่นและชำระเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะยื่นคำร้องต่ออธิบดี ขออนุมัติยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่แห่งใดแห่งหนึ่ง หรือ ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนดตามวรรคสามก็ได้และเมื่อได้รับอนุมัติจากอธิบดีแล้วให้ถือปฏิบัติตั้งแต่เดือนภาษีที่อธิบดีกำหนดเป็นต้นไป
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
    ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีตามวรรคหนึ่ง หากมีเครดิตภาษี หรือมีภาษีที่ต้องขอคืนให้ดำเนินการตามส่วน 8
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ท.ป.136/2547)
    มาตรา 83/1 สำหรับกิจการบางประเภทและหรือบางขนาด ซึ่งผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นบุคคลธรรมดา อาจตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีตามช่วงเวลาภาษี โดยให้แต่ละช่วงเวลาภาษีมีกำหนดไม่เกินสามเดือนก็ได้
    และเพื่อประโยชน์ในการคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับกิจการตามวรรคหนึ่งให้ถือว่าช่วงเวลาภาษีแต่ละช่วงตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาเป็นเดือนภาษีสำหรับกิจการนั้น
 
    มาตรา 83/2 เพื่อประโยชน์ในการจัดเก็บภาษี ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 82/1(1) (3) (4) หรือ (5) และมาตรา 82/2 มีหน้าที่ยื่นแบบแสดงรายการและชำระภาษี เช่นเดียวกับผู้ประกอบการจดทะเบียน
   
    มาตรา 83/3 ให้บุคคลดังต่อไปนี้เป็นผู้หน้าที่ในการยื่นแบบแสดงรายการภาษีแทนหรือร่วมกับผู้ประกอบการจดทะเบียน
    (1) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นคนไร้ความสามารถ หรือคนเสมือนไร้ความสามารถ ได้แก่ ผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ แล้วแต่กรณี
    (2) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนหรือผู้นำเข้าเป็นบุคคลธรรมดา ซึ่งถึงแก่ความตาย ได้แก่ ผู้จัดการมรดก ทายาทหรือผู้ครอบครองทรัพย์มรดก
    (3) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลได้แก่ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หรือบุคคลใดบุคคลหนึ่งในคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลนั้น
    (4) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล ได้แก่ กรรมการ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการ
    (5) ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเลิกกันโดยมีการชำระบัญชี ได้แก่ ผู้ชำระบัญชีและกรรมการ ผู้อำนวยการ ผู้จัดการ หรือผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการจัดการ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ก่อนวันเลิกนิติบุคคลนั้น
   
    มาตรา 83/4 ภายใต้บังคับส่วน 13 และส่วน 14 ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ไม่ถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าการคลาดเคลื่อนนั้นจะเป็นเหตุให้จำนวนภาษีในเดือนภาษีเปลี่ยนแปลงไปหรือไม่ก็ตาม ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่งพร้อมกับชำระภาษีถ้ามี ให้ถูกต้องครบถ้วน โดยยื่น ณ สถานที่ที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีไว้ก่อน
   
    มาตรา 83/5 ในการขายทอดตลาด ให้ผู้ทอดตลาดซึ่งขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียน มีหน้าที่นำส่งภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีหน้าที่ต้องเสีย
    ให้ผู้มีหน้าที่นำส่งตามวรรคหนึ่ง นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มโดยยื่นรายการตามแบบนำส่งภาษีที่อธิบดีกำหนด ณ สถานที่ และกำหนดเวลาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 52 และให้นำมาตรา 54 และมาตรา 55 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 118) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.87/2542 )
( ดูประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง ขยายกำหนดเวลาการนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย การนำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่ม และการยื่นรายการ )
    ให้ผู้ทอดตลาดที่เป็นส่วนราชการออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้ซื้อในการขายทอดตลาดและจัดทำสำเนา ให้กับผู้ประกอบการจดทะเบียนที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มไว้เพื่อเป็นหลักฐาน
    ในกรณีที่ส่วนราชการขายทรัพย์สินของผู้ประกอบการจดทะเบียนที่ถูกยึดมาตามกฎหมายโดยวิธีอื่น นอกจากการขายทอดตลาด ให้นำความในมาตรานี้มาใช้บังคับโดยอนุโลม
    ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการออกให้ตามวรรคสามและวรรคสี่ ให้ถือเป็นใบกำกับภาษี เว้นแต่ใบเสร็จรับเงินที่ส่วนราชการ ออกให้ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ต้องเสียภาษีตามมาตรา 82/16 ไม่ให้ถือเป็นใบกำกับภาษี
   
    มาตรา 83/6 เมื่อมีการชำระราคาสินค้าหรือ ราคาค่าบริการให้กับผู้ประกอบการดังต่อไปนี้ ให้ผู้จ่ายเงินค่าซื้อสินค้า หรือค่าบริการมีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลเพิ่มที่ผู้ประกอบการมีหน้าที่เสียภาษี
    (1) ผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักรซึ่งได้เข้ามาประกอบกิจการขายสินค้า หรือให้บริการในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และไม่ได้จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการชั่วคราวตามมาตรา 85/3
    (2) ผู้ประกอบการที่ได้ให้บริการในต่างประเทศ และได้มีการใช้บริการนั้นในราชอาณาจักร
        ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.104/2544 )
    (3) ผู้ประกอบการอื่นตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
    ให้นำมาตรา 83/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 118) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.87/2542 )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.120/2545 )
   
    มาตรา 83/7 ในการขายสินค้าหรือการให้บริการที่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่มในอัตราร้อยละ 0 ให้ผู้รับโอนสินค้าหรือ ผู้รับโอนสิทธิในบริการ มีหน้าที่นำส่งเงินภาษีมูลค่าเพิ่มที่ตนมีหน้าที่ต้องเสียตามมาตรา 82/12 ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ความรับผิดในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเกิดขึ้น ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่บุคคลนั้นมีภูมิลำเนา
    ให้นำมาตรา 83/5 วรรคสอง มาใช้บังคับ
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 65) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 118) )
   
    มาตรา 83/8 ภายใต้บังคับมาตรา 83/9 ให้ผู้นำเข้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นใบขนสินค้าตามแบบที่อธิบดีกรมศุลกากรกำหนดต่อเจ้าพนักงานศุลกากร ณ ด่านศุลกากรตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยศุลกากร และชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.101/2543 )
    ในกรณีนำเข้าสินค้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือในกรณีนำเข้าเครื่องจักร หรือวัตถุดิบเพื่อใช้ในการผลิตเพื่อการส่งออก ของผู้ได้รับการส่งเสริมตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ผู้นำเข้าจะวางเงินประกัน หลักประกัน หรือจัดให้มีผู้ค้ำประกัน เพื่อเป็นประกันภาษีมูลค่าเพิ่มแทนการชำระภาษีก็ได้
    วิธีการประกันและการถอนประกัน ให้กระทำได้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี
  ( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 20) )
    ในการนำเข้าสินค้าที่จำแนกประเภทไว้ในภาคว่าด้วยของที่ได้รับยกเว้นอากร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากร ซึ่งได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81 (2) (ค) ถ้าภายหลังสินค้านั้นต้องเสียอากร ตามกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีตามมาตรา 82/1 (3) ยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษี ตามวรรคหนึ่งพร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร
   
    " มาตรา 83/9 ในกรณีที่มีการนำสินค้าที่นำเข้าเข้าไปในคลังสินค้าทัณฑ์บนตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร หรือเขตปลอดอากร ถ้าภายหลังสินค้านั้นได้ปล่อยออกจากคลังสินค้าทัณฑ์บนโดยมิใช่เพื่อส่งออก หรือได้มีการนำสินค้าออกจากเขตปลอดอากรโดยมิใช่เพื่อส่งออก ให้ผู้นำเข้าที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มยื่นใบขนสินค้าและชำระภาษีมูลค่าเพิ่มต่อเจ้าพนักงานศุลกากร พร้อมกับการชำระอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากร "
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 35) พ.ศ. 2544 )
 
    มาตรา 83/10 ในการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
    (1) สำหรับสินค้าที่นำเข้า ให้กรมศุลกากรเรียกเก็บเพื่อกรมสรรพากร และในกรณีของตกค้างตามมาตรา 78/2 (3) ให้กรมศุลกากรหักภาษีมูลค่าเพิ่มพร้อมเบี้ยปรับเงินเพิ่ม เพื่อกรมสรรพากรตามหลักเกณฑ์ที่อธิบดีกำหนด
    (2) สำหรับการขายสินค้า หรือการให้บริการที่ต้องเสียภาษีสรรพสามิตด้วย ให้กรมสรรพสามิตเรียก เก็บเพื่อกรมสรรพากร
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.52/2537 )
   
    มาตรา 84 เครดิตภาษีที่เหลืออยู่ในแต่ละเดือนภาษี จากการคำนวณภาษีตามมาตรา 82/3 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธินำไปชำระภาษีมูลค่าเพิ่มได้ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา หรือมีสิทธิขอคืนพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษี ของเดือนภาษีนั้นตามมาตรา 83 หรือมาตรา 83/1 เว้นแต่ในกรณีที่มีการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมเพราะการยื่นแบบแสดงรายการภาษีไม่ถูกต้อง ครบถ้วนตามมาตรา 83/4 ก็ให้มีสิทธิขอคืนพร้อมกับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีเพิ่มเติมนั้น
  ( ดูพระราชกฤษฎีกา (ฉบับที่ 242) พ.ศ. 2534 )
   
    มาตรา 84/1 การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการขายสินค้า หรือการให้บริการให้กระทำได้ ตามเงื่อนไขดังต่อไปนี้
    (1) การขายสินค้าหรือการให้บริการในกรณีที่มีภาษีต้องคืน แต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนมิได้ขอคืนตามมาตรา 84 ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนภาษีภายในสามปีนับแต่วันพ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการภาษีสำหรับเดือนภาษีนั้น
    (2) การขายสินค้าหรือการให้บริการในกรณีอื่น ให้ยื่นคำร้องขอคืนภายในสามปีนับแต่วันที่ได้ชำระภาษี
    คำร้องขอคืนภาษีให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด
    ในกรณีที่ผู้ขอคืนภาษีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษี ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่ และถ้าผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง ให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีเป็นรายสถานประกอบการ ทั้งนี้ เว้นแต่ผู้ประกอบการจดทะเบียนดังกล่าวได้รับอนุมัติจากอธิบดีให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีและชำระภาษีรวมกันก็ให้ยื่นคำร้องขอคืนภาษีรวมกัน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ หรือ ณ สถานที่ที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 83 วรรคสี่ และในกรณีที่ผู้ขอคืนภาษีมิใช่ผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ยื่นคำร้องขอคืน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ที่ผู้ขอคืนมีภูมิลำเนา
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ท.ป.113/2545 )
   
    มาตรา 84/2 การขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการนำเข้าในกรณีดังต่อไปนี้ ให้กระทำได้ตามเงื่อนไขดังนี้
    (1) ในกรณีผู้นำเข้ามีข้อโต้แย้งตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือเป็นคดีในศาลการขอคืนภาษีให้กระทำภายในหกเดือน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัย ข้อโต้แย้งอากรขาเข้าเป็นหนังสือหรือนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้วแต่กรณี
    (2) ในกรณีผู้นำเข้าที่มิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว และต่อมาได้ส่งสินค้ากลับออกไป การขอคืนภาษีให้เป็นไปตาม หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไข และอัตราส่วนเช่นเดียวกับการคืนอากรขาเข้าตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรที่กำหนดไว้สำหรับ ขอคืนอากรขาเข้า
     คำร้องขอคืนภาษีตามมาตรานี้ ให้เป็นไปตามแบบที่อธิบดีกำหนด
    ในกรณีผู้ขอคืนภาษีเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ยื่นคำร้องขอคืน ณ ที่ว่าการอำเภอท้องที่ตามที่กำหนดในมาตรา 84/1 วรรคสาม และในกรณีผู้ขอคืนภาษีมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ให้ยื่นคำร้องขอคืน ณ ด่านศุลกากรขาเข้า
 
    มาตรา 84/3 การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้ผู้ได้รับคืนภาษีได้รับดอกเบี้ยตามหลักเกณฑ์ตามมาตรา 4 ทศ
   
    มาตรา 84/4 ให้อธิบดีมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ผู้เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักรขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้
  ( แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 34) พ.ศ.2541 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2542 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 90) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 91) )
   



NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร > หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม > มาตรา 83_84