บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
ลักษณะ 1 ข้อความเบื้องต้น
ลักษณะ 2 ภาษีอากรฝ่ายสรรพากร
หมวด 1 บทเบ็ดเสร็จทั่วไป
หมวด 1 ทวิ คณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
หมวด 2 วิธีการเกี่ยวแก่ภาษีอากรประเมิน
หมวด 3 ภาษีเงินได้
หมวด 4 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
หมวด 5 ภาษีธุรกิจเฉพาะ
หมวด 5 ภาษีป้าย (ยกเลิก)
หมวด 6 อากรแสตมป์
หมวด 7 อากรมหรสพ (ยกเลิก)
ลักษณะ 3 ภาษีบำรุงท้องที่ (ยกเลิก)
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  หมวด 6 อากรแสตมป์
    มาตรา 103 ในหมวดนี้ เว้นแต่ข้อความจะแสดงให้เห็นเป็นอย่างอื่น
      "ตราสาร" หมายความว่า เอกสารที่ต้องเสียอากรตามหมวดนี้
      "กระดาษ" หมายความตลอดถึงแผ่นหนังฟอก หรือสิ่งอื่น ๆ ซึ่งใช้เขียนตราสาร
      "แสตมป์" หมายความว่า แสตมป์ปิดทับหรือแสตมป์ดุนบนกระดาษ และแสตมป์ดุนบนกระดาษนี้ ให้หมายความรวมถึงแสตมป์พิมพ์ทับบนกระดาษด้วย ทั้งนี้ ตามที่กำหนดลักษณะโดยกฎกระทรวง
    ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 ใช้บังคับ 24 มิ.ย. 2494 เป็นต้นไป )
      "กระทำ" เมื่อใช้เกี่ยวกับตราสาร หมายความว่า การลงลายมือชื่อตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
      "ปิดแสตมป์" หมายความว่า การปิดแสตมป์ทับกระดาษ หรือการมีแสตมป์ดุนบนกระดาษ
      "ขีดฆ่า" หมายความว่า การกระทำเพื่อมิให้ใช้แสตมป์ได้อีก โดยในกรณีแสตมป์ปิดทับได้ลงลายมือชื่อหรือลงชื่อห้างร้านบนแสตมป์ หรือขีดเส้นคร่อมฆ่าแสตมป์ที่ปิดทับกระดาษและลง วัน เดือน ปี ที่กระทำสิ่งเหล่านี้ด้วย ในกรณีแสตมป์ดุนได้เขียนบนตราสารหรือยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน ให้แสตมป์ปรากฏอยู่ในด้านหน้าของตราสารนั้น
    ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2483 ใชับังคับ 1 ม.ค. 2484 เป็นต้นไป )
      "ปิดแสตมป์บริบูรณ์" หมายความว่า
    (1) ในกรณีแสตมป์ปิดทับ คือการได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ทับกระดาษ ก่อนกระทำหรือในทันทีที่ทำตราสารเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย และได้ขีดฆ่าแสตมป์นั้นแล้ว หรือ
    (2) ในกรณีแสตมป์ดุน คือการได้เสียอากรโดยใช้กระดาษมีแสตมป์ดุนเป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือโดยยื่นตราสารให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประทับแสตมป์ดุน และชำระเงินเป็นจำนวนไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียและขีดฆ่าแล้ว หรือ
      (3) ในกรณีชำระเป็นตัวเงิน คือการได้เสียอากรเป็นตัวเงิน เป็นราคาไม่น้อยกว่าอากรที่ต้องเสียตามบทบัญญัติในหมวดนี้ หรือตามระเบียบซึ่งอธิบดีจะได้กำหนด โดยอนุมัติรัฐมนตรี
      การปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามที่กำหนด ใน (1) และ (2) ดังกล่าวข้างต้นนั้น ให้อธิบดีมีอำนาจสั่งให้ปฏิบัติตามที่กำหนดใน (3) แทนได้
    ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21) )

( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 22) )

( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 29) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 33) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) )
( คำสั่งที่ 489/2503 (ผู้รับเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลเสียอากรแสดมป์เป็นตัวเงิน) )
      "ใบรับ" หมายความว่า
        (ก) บันทึก หรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับ ได้รับฝาก หรือได้รับชำระเงินหรือตั๋วเงิน หรือ
    (ข) บันทึก หรือหนังสือใด ๆ ที่เป็นหลักฐานแสดงว่าหนี้หรือสิทธิเรียกร้องได้ชำระหรือปลดให้แล้ว
    บันทึก หรือหนังสือที่กล่าวนั้นจะมีลายมือชื่อของบุคคลใด ๆ หรือไม่ ไม่สำคัญ
      "พนักงานเจ้าหน้าที่" หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
    ( ดูประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 11) )
( ดูประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 39) )
      "นายตรวจ" หมายความว่า เจ้าพนักงานซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้ง
    ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2482 ใช้บังคับ 6 พ.ย. 2482 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการแต่งตั้งเจ้าพนักงาน (ฉบับที่ 39) )
   
    มาตรา 104 ตราสารที่ระบุไว้ในบัญชีท้ายหมวดนี้ ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามอัตราที่กำหนดไว้ในบัญชีนั้น
   
    มาตรา 105 ในกรณีต่อไปนี้ ผู้ขาย ผู้ให้เช่าซื้อ ผู้รับเงิน หรือผู้รับชำระราคาต้องออกใบรับให้แก่ผู้ซื้อ ผู้เช่าซื้อ ผู้จ่ายเงินหรือผู้ชำระราคา ในทันทีทุกคราวที่รับเงินหรือรับชำระราคาไม่ว่าจะมีการเรียกร้องให้ออกใบรับหรือไม่ก็ตาม
    (1) การรับเงินหรือรับชำระราคาจากการขายสินค้าหรือการให้บริการของผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 และการรับเงินหรือรับชำระราคาจากการกระทำกิจการของผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะตามหมวด 5 ซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งพันบาทไม่ได้
    (2) การรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีอื่นซึ่งรวมเงินหรือราคาที่ได้รับชำระแต่ละครั้งเกินจำนวนเงินตามที่อธิบดีกำหนด แต่อธิบดีจะกำหนดเกินหนึ่งหมื่นบาทไม่ได้
    ถ้าการรับเงินหรือรับชำระราคาในกรณีเดียวกันมีจำนวนเกินกว่าที่อธิบดีกำหนด ตาม (1) หรือ (2) แต่มีเงื่อนไขให้รับเงินหรือรับชำระราคาในภายหลังเป็นหลายงวด ให้ออกใบรับทุกคราวในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคานั้น
    ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้รับเงินหรือรับชำระราคาแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบรับที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้
    มาตรานี้ไม่ใช้บังคับแก่การจำหน่ายแสตมป์อากร หรือแสตมป์อื่นของรัฐบาลที่ยังมิได้ใช้
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 34) )
   
    มาตรา 105 ทวิ ในการออกใบรับ ให้ผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (1) หรือผู้มีหน้าที่ออกใบรับตามมาตรา 105 (2) เฉพาะผู้ซึ่งกระทำเป็นปกติธุระ ทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ และเก็บต้นขั้วหรือสำเนาใบรับดังกล่าวไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันที่ออกใบรับ
  ( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ใช้บังคับ 31 ธ.ค.2521 เป็นต้นไป )
    ถ้าปรากฏว่าการรับเงินหรือรับชำระราคาที่ต้องทำต้นขั้วหรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง ไม่มีต้นขั้วหรือสำเนาใบรับ ให้สันนิษฐานว่าไม่ได้ออกใบรับ
    ใบรับและต้นขั้ว หรือสำเนาใบรับตามวรรคหนึ่ง อย่างน้อยต้องมีตัวเลขไทยหรืออารบิค และอักษรไทยให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
    (1) เลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ออกใบรับ
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
    (2) ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ออกใบรับ
    (3) เลขลำดับของเล่มและของใบรับ
    (4) วันเดือนปีที่ออกใบรับ
    (5) จำนวนเงินที่รับ
    (6) ชนิด ชื่อ จำนวนและราคาสินค้า ในกรณีการขายหรือให้เช่าซื้อสินค้า เฉพาะชนิดที่มีราคาตั้งแต่หนึ่งร้อยบาทขึ้นไป
    ในกรณีผู้ผลิต ผู้นำเข้าหรือผู้ขายส่ง ขายสินค้าให้แก่ผู้ซึ่งทำการค้าสินค้าประเภทเดียวกับสินค้าที่ขายนั้น ให้แสดงชื่อหรือยี่ห้อและที่อยู่ของผู้ซื้อไว้ในใบรับที่ต้องออกตามวรรคหนึ่งด้วยทุกคราวที่ได้รับชำระเงินหรือรับชำระราคา ข้อความในใบรับเช่นว่านี้ถ้าทำเป็นภาษาต่างประเทศให้มีภาษาไทยกำกับ
    ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กิจการตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
  ( ประกาศของคณะปฏิวัติ (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2520 ใช้บังคับ 9 พ.ย. 2520 เป็นต้นไป )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 141 (พ.ศ. 2521) )

( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.51/2537 )
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )
    มาตรา 105 ตรี ในกรณีที่ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มหรือผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ รับเงินหรือรับชำระราคามีจำนวนครั้งหนึ่ง ๆ ไม่ถึงจำนวนที่อธิบดีกำหนดตามมาตรา 105 (1) ให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือผู้ประกอบกิจการที่จดทะเบียนภาษีธุรกิจเฉพาะ รวมเงินที่รับมาเฉพาะในกรณีดังกล่าวทุกครั้ง และเมื่อสิ้นวันหนึ่ง ๆ ได้จำนวนเท่าใด ให้ทำบันทึกจำนวนเงินนั้นรวมขึ้นเป็นวัน ๆ ตามแบบที่อธิบดีกำหนดและเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปีนับแต่วันทำบันทึก
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 105 จัตวา ในการขายสินค้าให้ผู้ประกอบการตามหมวด 4 ที่เป็นผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก หรือผู้ขายส่ง เมื่อมีการขายสินค้าให้ออกใบส่งของให้แก่ผู้ซื้อ และให้ทำสำเนาเก็บไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่าห้าปี นับแต่วันที่ออกใบส่งของ
    ใบส่งของและสำเนาตามความในวรรคก่อน อย่างน้อยต้องมีตัวเลขและอักษรไทย ให้ปรากฏข้อความต่อไปนี้
    (1) ชื่อ หรือยี่ห้อ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย
    (2) ชื่อ หรือยี่ห้อของผู้ซื้อ
    (3) เลขลำดับของเล่ม (ถ้ามี) และของใบส่งของ
    (4) วันเดือนปี ที่ออกใบส่งของ
    (5) ชนิด ชื่อ จำนวน และราคาของสินค้าที่ขาย
    ตัวเลขไทยนั้นจะใช้เลขอารบิคแทนก็ได้
    ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามหมวด 4 ซึ่งได้ออกใบกำกับภาษีที่มีข้อความแสดงว่าได้ส่งสินค้าให้แก่ผู้ซื้อแล้ว จะถือเอาใบกำกับภาษีนั้นเป็นใบส่งของที่ต้องออกตามมาตรานี้ก็ได้
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2535 เป็นต้นไป )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) )
  ( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.121/2545 )
    มาตรา 106 ใบรับที่ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ แม้ไม่อยู่ในบังคับให้จำต้องออกใบรับตามความในมาตรา 105 เมื่อผู้มีส่วนได้เสียเรียกร้อง ผู้มีหน้าที่ออกใบรับต้องออกให้ในทันทีที่ถูกเรียกร้อง
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 107 เว้นแต่ที่บัญญัติในมาตรา 111 ถ้าไม่มีข้อตกลงเป็นอย่างอื่น ผู้มีหน้าที่เสียอากรและผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าให้เป็นไปตามบัญชีท้ายหมวดนี้
    ถ้าผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าเขียนหนังสือไม่เป็น จะให้ผู้อื่นเขียนวันเดือนปีแทนก็ได้
    ถ้าผู้มีหน้าที่ขีดฆ่าไม่ยอมขีดฆ่า หรือไม่มีตัวอยู่ที่จะทำการขีดฆ่าได้ ให้ผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์ขีดฆ่าแทนได้
   
    มาตรา 108 ถ้าทำตราสารหลายลักษณะตามที่ระบุในบัญชีท้ายหมวดนี้บนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น เช่าและกู้ยืมเงินรวมกันไว้ หรือทำตราสารลักษณะเดียวกันหลายเรื่องบนกระดาษแผ่นเดียวกัน หรือเป็นฉบับเดียวกัน เช่น ขายของสิ่งหนึ่งให้แก่คนหนึ่ง และขายอีกสิ่งหนึ่งให้แก่อีกคนหนึ่ง ซึ่งตามสภาพควรจะแยกกัน ต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้ครบทุกลักษณะหรือทุกเรื่อง โดยปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นรายตราสารแยกไว้ให้ปรากฏว่าตราสารใดอยู่ที่ใด และแสตมป์ดวงใดสำหรับตราสารลักษณะหรือเรื่องใด
   
    มาตรา 109 สัญญาใดเป็นตราสารซึ่งเกิดขึ้นโดยมีหนังสือโต้ตอบกันและมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าหนังสือฉบับหนึ่งฉบับใดที่จำเป็นในการทำให้เกิดสัญญานั้นขึ้นได้ปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าแสตมป์แล้วให้ถือว่าสัญญานั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว
   
    มาตรา 110 คู่ฉบับหรือคู่ฉีกแห่งตราสารใด แม้จะได้ปิดแสตมป์สำหรับคู่ฉบับหรือคู่ฉีกนั้นตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้แล้วก็ดี ถ้ามิได้นำตราสารต้นฉบับหรือพยานหลักฐานมาแสดงให้เป็นที่พอใจว่าตราสารต้นฉบับนั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว มิให้ถือว่าคู่ฉบับหรือคู่ฉีกนั้นได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรสำหรับตราสารต้นฉบับและขีดฆ่าแล้ว
   
    มาตรา 111 ถ้าตราสารที่ต้องเสียอากรได้ทำขึ้นนอกสยามให้เป็นหน้าที่ ของผู้ทรงตราสารคนแรกในสยามต้องเสียอากร โดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับตราสารนั้น ถ้าไม่ปฏิบัติตามนี้ให้ถือว่าเป็นตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์
    ถ้ามิได้ปฏิบัติตามความในวรรคก่อน ผู้ทรงคนใดคนหนึ่งแห่งตราสารต้องเสียอากร โดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าก่อน แล้วจึงจะยื่นตราสารเพื่อให้จ่ายเงิน รับรอง สลักหลัง โอน หรือถือเอาประโยชน์ได้
    ผู้ทรงตราสารคนใดได้ตราสารตามความในมาตรานี้ไว้ในครอบครองก่อนพ้นกำหนดที่กล่าวไว้ในวรรคหนึ่ง ผู้ทรงคนนั้นจะเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่าก็ได้ โดยมีสิทธิไล่เบี้ยจากผู้ทรงคนก่อน ๆ
   
    มาตรา 112 ถ้าตั๋วเงินที่ยื่นให้ชำระเงินมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้รับตั๋วจะเสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนอากรและขีดฆ่า และใช้สิทธิไล่เบี้ยจากผู้มีหน้าที่เสียอากร หรือหักค่าอากรจากเงินที่จะชำระก็ได้
   
    มาตรา 113 ตราสารใดมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ผู้มีหน้าที่เสียอากรหรือผู้ทรงตราสารหรือผู้ถือเอาประโยชน์ชอบที่จะยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อขอเสียอากรได้ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ได้รับตราสารแล้ว ให้อนุมัติให้เสียอากรภายในบังคับแห่งบทบัญญัติต่อไปนี้
    1 ถ้าตราสารที่มิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์นั้นเป็นตราสารที่กระทำขึ้นในประเทศไทย เมื่อผู้ขอเสียอากรได้ยื่นตราสารนั้นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อเสียอากรภายใน 15 วันนับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ ก็ให้อนุมัติให้เสียเพียงอากรตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2489 ใช้บังคับ 31 ธ.ค. 2489 เป็นต้นไป )
    2 ถ้ากรณีเป็นอย่างอื่น ก็ให้อนุมัติให้เสียอากรและให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากร ดังต่อไปนี้อีกด้วย
      (ก) ถ้าปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์เป็นเวลาไม่พ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 2 เท่าจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 4 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
    (ข) ถ้าปรากฏต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ว่า ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ เป็นเวลาพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันต้องปิดแสตมป์บริบูรณ์แล้ว ให้เรียกเก็บเงินเพิ่มอากรเป็น 5 เท่าจำนวนอากร หรือเป็นเงิน 10 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
  ( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.84/2542 )
   
    มาตรา 114 โดยการตรวจสอบตามความในมาตรา 123 ก็ดี โดยการกล่าวหาแจ้งความของบุคคลใด ไม่ว่าจะเป็นเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือมิใช่ก็ดี ถ้าปรากฏว่า
    (1) มิได้มีการออกใบรับในกรณีที่ต้องออกใบรับตามความในมาตรา 105 หรือมาตรา 106 ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากร หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
    (2) ตราสารมิได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ โดย
        (ก) มิได้ปิดแสตมป์เลย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอากรอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ต้องเสีย หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
        (ข) ปิดแสตมป์น้อยกว่าอากรที่ต้องเสีย ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจ เรียกเก็บเงินอากรจนครบ และเงินเพิ่มอีกเป็นจำนวน 6 เท่าของเงินอากรที่ขาด หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
        (ค) ในกรณีอื่น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจเรียกเก็บเงินเพิ่มอากร เป็นจำนวน 1 เท่า ของเงินอากรที่ต้องเสีย หรือเป็นเงิน 25 บาท แล้วแต่อย่างใดจะมากกว่า
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ใช้บังคับ 13 ต.ค. 2497 เป็นต้นไป )
( วรรคท้ายมาตรานี้ยกเลิกโดย พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
( ดูกฎกระทรวง ฉบับที่ 129 (พ.ศ. 2512) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.84/2542 )
   
    มาตรา 115 เงินอากรและเงินเพิ่มอากรที่กล่าวในมาตรา 113 และ มาตรา114 นั้น ให้พนักงานเจ้าหน้าที่จัดการเรียกเก็บจากผู้มีหน้าที่เสียอากรก่อน ถ้าไม่ได้เงินจากผู้มีหน้าที่เสียอากร จึงให้จัดการเรียกเก็บจากผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่งตราสารนั้น
    ผู้ถูกเรียกเก็บเงินอากรและเงินเพิ่มอากรตามความในวรรคก่อนจะอุทธรณ์คำสั่งก็ได้ ทั้งนี้ ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 116 วิธีเสียเงินอากรและเงินเพิ่มอากรดังบัญญัติไว้ในมาตรา 113 หรือมาตรา 114 ให้เสียโดยวิธีชำระเป็นตัวเงินต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อได้รับชำระเงินแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกใบรับเงินและสลักหลังตราสาร หรือทำหลักฐานขึ้นในกรณีไม่มีตราสาร ทั้งนี้ เพื่อแสดงการรับเงินอากรและเงินเพิ่มอากรถ้ามี ตลอดทั้งชื่อและตำบลที่อยู่ของผู้เสียเงิน แล้วลงชื่อพนักงานเจ้าหน้าที่และวันเดือนปีไว้เป็นสำคัญ
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 117 ตราสารหรือหลักฐานตามความในมาตรา 116 ที่มีผู้เสียอากร หรือเสียอากรและเงินเพิ่มอากรถ้ามี ตามความในมาตรา 113 หรือมาตรา 114 แล้ว ให้ถือว่าเป็นตราสารที่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ ส่วนเงินเพิ่มอากรที่เรียกเก็บให้ถือเป็นเงินอากร
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 118 ตราสารใดไม่ปิดแสตมป์บริบูรณ์ จะใช้ต้นฉบับ คู่ฉบับ คู่ฉีก หรือสำเนาตราสารนั้นเป็นพยานหลักฐานในคดีแพ่งไม่ได้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114
   
    มาตรา 119 ตราสารซึ่งเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือเทศบาลต้องลงนามหรือรับรู้ก็ดี ตราสารซึ่งต้องทำต่อหน้าเจ้าพนักงานรัฐบาลหรือเทศบาลก็ดี ตราสารซึ่งต้องให้เจ้าพนักงานรัฐบาลหรือเทศบาลลงบันทึกก็ดี ห้ามมิให้เจ้าพนักงานลงนามรับรู้ ยอมให้ทำ หรือบันทึกไว้ จนกว่าจะได้เสียอากรโดยปิดแสตมป์ครบจำนวนตามอัตราในบัญชีท้ายหมวดนี้ และขีดฆ่าแล้ว แต่ทั้งนี้ไม่เป็นการเสื่อมสิทธิที่จะเรียกเงินเพิ่มอากรตามมาตรา 113 และมาตรา 114
   
    มาตรา 120 ผู้ใดได้เสียอากรหรือค่าเพิ่มอากรโดยมิใช่เป็นผู้มีหน้าที่เสีย ผู้นั้นมีสิทธิไล่เบี้ยเอาค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรซึ่งตนได้เสียไปจากบุคคลผู้มีหน้าที่เสียได้
   
    มาตรา 121 ถ้าฝ่ายที่ต้องเสียอากรเป็นรัฐบาล เจ้าพนักงานผู้กระทำงานของรัฐบาลโดยหน้าที่ บุคคลผู้กระทำการในนามของรัฐบาล องค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่น สภากาชาดไทย วัดวาอาราม และองค์การศาสนาใด ๆ ในราชอาณาจักรซึ่งเป็นนิติบุคคล อากรเป็นอันไม่ต้องเสีย แต่ข้อยกเว้นนี้มิให้ใช้แก่องค์การของรัฐบาลที่ใช้ทุนหรือทุนหมุนเวียนเพื่อประกอบการพาณิชย์ หรือการพาณิชย์ซึ่งองค์การบริหารราชการส่วนท้องถิ่นเป็นผู้จัดทำ
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 19) พ.ศ. 2508 ใช้บังคับ 1 ม.ค. 2509 เป็นต้นไป)
   
    มาตรา 122 ผู้ใดได้เสียค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรเกินไปไม่น้อยกว่า 2 บาท สำหรับตราสารลักษณะเดียวหรือเรื่องเดียวผู้นั้นชอบที่จะทำคำร้องเป็นหนังสือยื่นต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่ออธิบดีเห็นว่าเกินไปจริงก็ให้คืนค่าอากรหรือค่าเพิ่มอากรที่เกินไปนั้นแก่ผู้เสียอากรได้ แต่คำร้องที่กล่าวนั้นต้องยื่นภายในเวลา 6 เดือน นับแต่วันเสียอากรหรือค่าเพิ่มอากร และต้องประกอบด้วยคำชี้แจงหรือเอกสาร ซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่หรืออธิบดีเห็นสมควรให้ยื่นสนับสนุนคำร้อง
   
    มาตรา 123 เมื่อมีเหตุสมควร พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจมีอำนาจเข้าไปในสถานการค้า หรือสถานที่ที่เกี่ยวข้องระหว่างพระอาทิตย์ขึ้นและพระอาทิตย์ตก หรือในเวลาที่เปิดทำการของสถานการค้าหรือสถานที่นั้น เพื่อทำการตรวจสอบตราสารว่า ได้ปิดแสตมป์บริบูรณ์ตามความในมาตรา 104 หรือไม่ หรือทำการตรวจสอบเพื่อทราบว่าได้ออกใบรับตามความในมาตรา 105 มาตรา 106 หรือทำหรือเก็บต้นขั้วสำเนาใบรับตามความในมาตรา 105 ทวิ หรือทำ หรือเก็บบันทึกตามความในมาตรา 105 ตรี หรือไม่ กับมีอำนาจเรียกและยึดตราสาร หรือเอกสาร และออกหมายเรียกตัวผู้มีหน้าที่เสียอากร ผู้ทรงตราสาร หรือผู้ถือเอาประโยชน์แห่งตราสาร และพยานหลักฐานอื่นอันควรแก่เรื่องมาไต่สวนได้
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 123 ทวิ เพื่อให้การเสียอากรในหมวดนี้เป็นไปโดยรัดกุม ให้อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดวิธีการให้ผู้มีหน้าที่เสียอากรปฏิบัติ การกำหนดวิธีการเช่นว่านี้เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้
    เพื่อความสะดวกของผู้มีหน้าที่เสียอากร การปฏิบัติในการขีดฆ่าตามความในมาตรา 103 หรือการปฏิบัติตามความในมาตรา 105 มาตรา 105 ทวิ มาตรา105 ตรี และมาตรา 105 จัตวา นั้น อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจกำหนดวิธีการให้ปฏิบัติเป็นอย่างอื่น หรือจะยกเว้นไม่ให้ต้องปฏิบัติก็ได้
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ใช้บังคับ 13 ธ.ค.2497 เป็นต้นไป)
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 21) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 22) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 23) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 29) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 32) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 33) )
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับอากรแสตมป์ (ฉบับที่ 37) )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป.117/2545 )
   
    มาตรา 123 ตรี ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำนวนเงินที่แสดงไว้ในใบรับตามลักษณะแห่งตราสาร 28.(ข) และ (ค) แห่งบัญชีอัตราอากรแสตมป์ต่ำไป พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจกำหนดจำนวนเงินที่แสดงไว้ในใบรับนั้นตามจำนวนเงินที่สมควรได้รับตามปกติ และให้ผู้ออกใบรับมีหน้าที่เสียค่าอากรจากจำนวนเงินที่กำหนดนั้น
    ผู้ออกใบรับซึ่งถูกกำหนดจำนวนเงินตามวรรคหนึ่งจะอุทธรณ์การกำหนดจำนวนเงินนั้นก็ได้ ทั้งนี้ให้นำบทบัญญัติว่าด้วยการอุทธรณ์ตามส่วน 2 หมวด 2 ลักษณะ 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม
  ( พระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2521 ใช้บังคับ 31 ธ.ค. 2521 เป็นต้นไป )
( ดูคำสั่งกรมสรรพากรที่ ป.100/2543 )
   
    มาตรา 124 ผู้ใดมีหน้าที่เสียอากร หรือขีดฆ่าแสตมป์ เพิกเฉยหรือปฏิเสธไม่เสียอากร หรือไม่ขีดฆ่าแสตมป์ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 125 ผู้ใดออกใบรับไม่ถึง 10 บาท สำหรับมูลค่าตั้งแต่ 10 บาทขึ้นไป หรือแบ่งแยกมูลค่าที่ได้รับชำระนั้น เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียอากรก็ดี จงใจกระทำหรือทำตราสารให้ผิดความจริงเพื่อหลีกเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งหมวดนี้ก็ดี มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองร้อยบาท
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 ใช้บังคับ 27 มี.ค. 2496 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 126 ผู้ใดจงใจลงวันเดือนปีที่ขีดฆ่าแสตมป์เป็นเท็จ ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินสามเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 127 ผู้ใดไม่ทำหรือไม่เก็บบันทึกตามมาตรา 105 ตรี หรือไม่ออกใบรับให้ในทันทีที่ถูกเรียกร้องตามมาตรา 106 หรือออกใบรับ ซึ่งไม่ปิดแสตมป์ตามจำนวนอากรที่ต้องเสีย ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
 
    มาตรา 127 ทวิ ผู้ใดโดยตนเองหรือโดยสมคบกับผู้อื่นทำให้ไม่มีการออกใบรับหรือไม่ออกใบรับให้ในทันทีที่รับเงินหรือรับชำระราคาตามมาตรา 105 หรือออกใบรับเป็นจำนวนเงินน้อยกว่าที่รับเงินหรือรับชำระราคาจริง ต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือทั้งปรับทั้งจำ
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 16) พ.ศ. 2502 ใช้บังคับ 5 พ.ย. 2502 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 128 ผู้ใดโดยรู้อยู่แล้วไม่อำนวยความสะดวกแก่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจในการปฏิบัติตามหน้าที่ หรือโดยรู้อยู่แล้ว หรือจงใจไม่ปฏิบัติตามคำเรียก หรือไม่ยอมให้ยึดตราสารหรือเอกสาร หรือไม่ปฏิบัติตามหมายของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือนายตรวจ ตามความในมาตรา 123 หรือไม่ยอมตอบคำถามเมื่อซักถามหรือฝ่าฝืนบทบัญญัติ มาตรา 105 ทวิ มาตรา 105 จัตวา หรือมาตรา 123 ทวิ มีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าร้อยบาท
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 12) พ.ศ. 2497 ใช้บังคับ 13 ธ.ค. 2497 เป็นต้นไป )
   
    มาตรา 129 ผู้ใดโดยเจตนาทุจริตมีแสตมป์ซึ่งรู้อยู่ว่าเป็นแสตมป์ปลอมก็ดี หรือค้าแสตมป์ที่ใช้แล้ว หรือที่มีกฎกระทรวงประกาศให้เลิกใช้เสียแล้วก็ดี ผู้นั้นมีความผิดต้องระวางโทษปรับไม่เกินห้าพันบาท หรือจำคุกไม่เกินสามปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
  ( พระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2489 ใช้บังคับ 31 ธ.ค. 2489 เป็นต้นไป )
 



NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร > หมวด 6 อากรแสตมป์ > มาตรา 103_129