ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
 

ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172)

เรื่อง
กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ สำหรับเงินได้
 
เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง
 
ฉบับที่ 126 (พ.ศ.2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร
----------------------------------------
 
                                   อาศัยอำนาจตามความในข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 266 (พ.ศ. 2551) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ ดังต่อไปนี้
 
                                   ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545
 
                                   ข้อ 2 การยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ เฉพาะกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และเป็นการประกันชีวิตที่ได้เอาประกันไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ ดังต่อไปนี้
                                          (1) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม ค่าเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมดังกล่าว ไม่สามารถยกเว้นภาษีสำหรับเบี้ยประกันภัยดังกล่าวได้
                                          (2) กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ ต้องเป็นไปตามเงื่อนไขดังนี้
                                               (ก) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนทุกปี จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี หรือ
                                               (ข) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตามช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดนอกจาก (ก) เช่น ราย 2 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี เป็นต้น จะต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมของแต่ละช่วงระยะเวลาที่ผู้รับประกันภัยกำหนดให้มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน หรือ
                                               (ค) กรณีได้รับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนที่ไม่เป็นไปตาม (ก) หรือ (ข) ผลรวมของเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนสะสมตั้งแต่ปีแรกถึงปีที่มีการจ่ายเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืน ต้องไม่เกินร้อยละ 20 ของเบี้ยประกันชีวิตสะสมทั้งหมดในช่วงระยะเวลาดังกล่าว
                                   ทั้งนี้ เงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนตาม (ก) และหรือ (ข) และหรือ (ค) ไม่รวมเงินปันผลตามกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้รับตามเงื่อนไขในกรมธรรม์ประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดการจ่ายเบี้ยประกันชีวิตแล้ว แต่ผู้เอาประกันภัยยังคงได้รับความคุ้มครองตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญาประกันชีวิต หรือเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนที่จ่ายเมื่อสิ้นสุดอายุกรมธรรม์
                                   ความใน (1) และ (2) ให้ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป
 
                                   ข้อ 3 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                                          (1) ให้ได้รับยกเว้นภาษีตลอดปีภาษี ไม่ว่ากรณีที่จะได้รับยกเว้นภาษีนั้นจะมีอยู่ตลอดปีภาษีหรือไม่
                                          (2) กรณีสามีหรือภริยามีเงินได้ฝ่ายเดียว ให้ยกเว้นภาษีให้แก่สามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้เต็มจำนวนตามที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท
ในกรณีสามีหรือภริยาของผู้มีเงินได้มีการประกันชีวิตและความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษี สามีหรือภริยาซึ่งเป็นฝ่ายผู้มีเงินได้มีสิทธิหักลดหย่อน สำหรับเบี้ยประกันชีวิตของสามี
หรือภริยาฝ่ายที่ไม่มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกิน 10,000 บาท ตามมาตรา 47(1)(ง) แห่งประมวลรัษฎากร
                                          (3) กรณีสามีภริยาต่างฝ่ายต่างมีเงินได้
                                               (ก) ถ้าความเป็นสามีภริยามิได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษี ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
                                               (ข) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาไม่ใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามีตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
                                               (ค) ถ้าความเป็นสามีภริยาได้มีอยู่ตลอดปีภาษีที่ได้รับยกเว้นภาษีและภริยาใช้สิทธิแยกยื่นรายการและเสียภาษีต่างหากจากสามี ตามมาตรา 57 เบญจ แห่งประมวลรัษฎากร ให้สามีและภริยาซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ต่างฝ่ายต่างได้รับยกเว้นภาษีตามจำนวนที่จ่ายจริง เฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ซึ่งไม่เกินเงินได้พึงประเมินของแต่ละคนหลังจากหักค่าใช้จ่าย ตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
                                   ข้อ 4 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ผู้มีเงินได้ต้องมีหลักฐานจากผู้รับประกันภัยที่พิสูจน์ได้ว่า มีการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต
                                                                                                                                                    กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติมหลักฐานตามวรรคหนึ่งต้องระบุจำนวนเบี้ยประกันชีวิตและเบี้ยประกันภัยที่จ่ายสำหรับความคุ้มครอง อื่นเพิ่มเติมแยกออกจากกัน
                                   กรณีกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ หลักฐานตามวรรคหนึ่งต้องระบุเงื่อนไขตามข้อ 2(2) ด้วย
                                   ความในวรรคสองและวรรคสามให้ใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ประกันชีวิตที่ได้เริ่มทำตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2552 เป็นต้นไป
 
                                   ข้อ 5 กรณีผู้มีเงินได้ ได้ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 3 แล้ว และต่อมาได้ปฏิบัติไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของข้อ 2 ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามข้อ 3 และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับปีภาษีที่ได้นำเงินค่าเบี้ยประกันชีวิตไปหักออกจากเงินได้เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้มาแล้วนับตั้งแต่วันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ของปีภาษีนั้นๆ จนถึงวันที่ได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มเติมเพื่อเสียภาษีเงินได้เพิ่มเติมของปีภาษีดังกล่าวพร้อมเงินเพิ่ม ตามมาตรา 27 แห่งประมวลรัษฎากร
 
                                   ข้อ 6 การได้รับยกเว้นภาษีตามประกาศนี้ ให้ผู้มีเงินได้นำเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีไปคำนวณหักจากเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 แห่งประมวลรัษฎากร เมื่อได้หักค่าใช้จ่ายตามมาตรา 42 ทวิ ถึงมาตรา 46 แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว
 
                                   ข้อ 7 ในกรณีมีปัญหาในทางปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย
 
                                   ข้อ 8 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามข้อ 2(61) แห่งกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร ลงวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2545 ให้ยังคงใช้บังคับต่อไป เฉพาะในการปฏิบัติจัดเก็บภาษีเงินได้ที่ค้างชำระหรือพึงชำระก่อนวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2551
 
ประกาศ ณ วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ.2551
วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร
 
 
space

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร > ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172)