บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 39)
เรื่อง กำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร



อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 86/4(8) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดี กรมสรรพากรกำหนดข้อความอื่นในใบกำกับภาษี ดังต่อไปนี้
“ข้อ 1  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนประสงค์จะจัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรรวมกับเอกสารทางการค้าอื่น เช่น ใบเสร็จรับเงิน ใบส่งของ ใบแจ้งหนี้ ซึ่งมีจำนวนหลายฉบับอยู่ในชุดเดียวกัน และใบกำกับภาษีมิใช่เอกสารฉบับแรกของเอกสารดังกล่าวให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้
            (1) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้ส่งมอบสินค้าก่อนได้รับชำระราคาสินค้าหรือได้ออกใบกำกับภาษีก่อนได้รับชำระราคาค่าบริการ
                  (ก) ในเอกสารฉบับแรกของเอกสารชุดดังกล่าว หรือในเอกสารฉบับอื่นที่มิใช่ฉบับแรก แต่เป็นต้นฉบับของเอกสารฉบับอื่นใดก็ตาม ซึ่งมิใช่ฉบับที่เป็นใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า “ไม่ใช่ใบกำกับภาษี” ไว้ในเอกสารฉบับนั้นด้วย
                  (ข) ในเอกสารทุกฉบับของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด“ ไว้ด้วย
                  (ค) ในเอกสารฉบับที่ถือว่าเป็นสำเนาของเอกสารฉบับอื่นจะต้องมีข้อความว่า "สำเนา..." ไว้ทุกฉบับ
            (2) กรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับชำระราคาสินค้าก่อนส่งมอบสินค้า หรือได้รับชำระราคาค่าบริการก่อนการให้บริการ
                  (ก) ในเอกสารฉบับแรกของเอกสารชุดดังกล่าว หรือในเอกสารฉบับอื่นที่มิใช่ฉบับแรก แต่เป็นต้นฉบับของเอกสารฉบับอื่นใดก็ตาม ซึ่งมิใช่ฉบับที่เป็นใบกำกับภาษี จะต้องมีข้อความว่า “ไม่ใช่ใบกำกับภาษี” ไว้ในเอกสารฉบับนั้นด้วย
                  (ข) ในเอกสารทุกฉบับของเอกสารชุดดังกล่าว จะต้องมีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ไว้ด้วย
                  (ค) ในเอกสารฉบับที่ถือว่าเป็นสำเนาของเอกสารฉบับอื่นจะต้องมีข้อความว่า “สำเนา...” ไว้ทุกฉบับ
                  ข้อความว่า “ไม่ใช่กำกับภาษี” “เอกสารออกเป็นชุด” และ “สำเนา...” ตามวรรคหนึ่ง จะต้องตีพิมพ์ขึ้นและจัดทำด้วยระบบคอมพิวเตอร์ในกรณีจัดทำใบกำกับภาษีขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ทั้งฉบับ จะประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือกระทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นในลักษณะทำนองเดียวกับไม่ได้
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 64) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2539 เป็นต้นไป)
ข้อ 2  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้จัดทำใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากรรวมกับเอกสารทางการค้าอื่นตามข้อ 1 แต่ไม่มีข้อความว่า “เอกสารออกเป็นชุด” ก็ให้ยังคงใช้เป็นใบกำกับภาษีได้ต่อไปจนกว่าเอกสารทางการค้าซึ่งได้มีอยู่เดิมก่อนวันที่ประกาศฉบับนี้ใช้บังคับจะหมดไป แต่ทั้งนี้ต้องไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ.2535
ข้อ 3  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนมีสถานประกอบการหลายแห่ง และสถานประกอบการที่มิใช่สำนักงานใหญ่ได้นำใบกำกับภาษีของสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่ไปส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการทุกครั้งที่มีการขายสินค้าหรือการให้บริการ จะต้องมีข้อความว่า "สาขาที่ออกใบกำกับภาษีคือ" ไว้ในใบกำกับภาษีดังกล่าวโดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับด้วยตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
“ข้อ 4  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนซึ่งประกอบกิจการสถานบริการน้ำมันได้ขายน้ำมันเชื้อเพลิงหรือได้ขายสินค้าหรือให้บริการที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับรถยนต์ ที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์ จะต้องระบุ เลขทะเบียนรถยนต์ ไว้ในใบกำกับภาษีตามมาตรา 86/4 แห่งประมวลรัษฎากร โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้” (แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 52) ใช้บังคับ 1 ตุลาคม 2537 เป็นต้นไป)
“ข้อ 5  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรให้ออกใบกำกับภาษีเป็นหน่วยเงินตราต่างประเทศ ตามมาตรา 86/4 วรรคสอง แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุดอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยไว้ในใบกำกับภาษีด้วย โดยข้อความดังกล่าวจะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้
              อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศตามวรรคหนึ่ง ให้ใช้อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราตามอัตราอ้างอิงประจำวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศไว้เป็นอัตราแลกเปลี่ยนในการคำนวณเงินตราต่างประเทศเป็นเงินตราไทยของวันถัดไป ตามมาตรา 9 แห่งประมวลรัษฎากร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 77) ใช้บังคับ 1 กรกฎาคม 2541 เป็นต้นไป)
“ข้อ 6  ในกรณีผู้ประกอบการจดทะเบียนไม่ต้องนำมูลค่าของทองรูปพรรณที่ขายเป็นจำนวนเท่ากับราคาทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศรับซื้อคืนในวันที่ขายทองรูปพรรณ มารวมคำนวณมูลค่าของฐานภาษี ตามมาตรา 79(4) แห่งประมวลรัษฎากร ผู้ประกอบการจดทะเบียนจะต้องระบุขอ้ความดังต่อไปนี้ไว้ในใบกำกับภาษีด้วย
             (1) ราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จแต่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม
             (2) ราคารับซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศ
             (3) ผลต่างระหว่างราคาขายทองรูปพรรณซึ่งรวมค่ากำเหน็จแต่ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มตาม (1) กับราคาซื้อคืนทองรูปพรรณที่สมาคมค้าทองคำประกาศตาม (2)
             (4) จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจาก (3)
             (5) หมายเลขลำดับของใบรับที่ออกโดยเครื่องบันทึกการเก็บเงิน แต่หากผู้ประกอบการจดทะเบียนใช้เครื่องบันทึกการเก็บเงินออกใบกำกับภาษีด้วย ไม่ต้องระบุหมายเลขลำดับของใบรับ
             (6) เลขรหัสประจำเครื่องบันทึกการเก็บเงินที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
                  ข้อความตามวรรคหนึ่ง จะตีพิมพ์ จัดทำขึ้นด้วยระบบคอมพิวเตอร์ ประทับตรายาง เขียนด้วยหมึก พิมพ์ดีด หรือทำให้ปรากฏขึ้นด้วยวิธีการอื่นใดในลักษณะทำนองเดียวกันก็ได้”
          ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2535 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2535

โกวิทย์ โปษยานนท์
อธิบดีกรมสรรพากร


NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร > เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 39