ขออภัยมีข้อจำกัดในการแสดงผล
บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
ข่าวการปรับปรุง
 
 
     
 

 

กฎกระทรวง
ฉบับที่ 126 (พ.ศ. 2509)
ออกตามความในประมวลรัษฎากร
ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

------------------------------------

                        อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 4 และมาตรา 134 (4) แห่งประมวลรัษฎากรซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 8) พ.ศ. 2494 และมาตรา 42 (17) แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้ 


                 ข้อ 1  ให้ยกเลิก
                                   (1) กฎกระทรวง ฉบับที่ 110 (พ.ศ. 2500) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 
                                   (2) กฎกระทรวง ฉบับที่ 124 (พ.ศ. 2506) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร 
                                   (3) กฎกระทรวง ฉบับที่ 125 (พ.ศ. 2507) ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร

                      ข้อ 2  ให้กำหนดเงินได้ต่อไปนี้เป็นเงินได้ตาม (17) ของมาตรา 42 แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2496 
                                  (1) เงินได้จากกิจการของโรงเรียนราษฎร์ซึ่งได้ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนราษฎร์ แต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายของ การรับจ้างทำของหรือการให้บริการอื่นใดที่โรงเรียนราษฎร์ซึ่งเป็นโรงเรียนอาชีวศึกษาได้รับจากผู้ซึ่งมิใช่นักเรียน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 132 (พ.ศ. 2513) ใช้บังคับ 16 กันยายน 2513 เป็นต้นไป) 
                                  (2) เงินได้จากการจำหน่าย หรือส่วนลดจากการจำหน่ายสลากกินแบ่งของรัฐบาล 
                                  (3) เงินได้ส่วนที่เป็นค่าจ้างการทำงานในระหว่างเวลาปิดภาคการศึกษาของคนต่างด้าวซึ่งเป็นนักเรียน นักศึกษาหรือนิสิตที่เข้ามาศึกษา ณ สถานศึกษาในประเทศไทย ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน 
                                  (4) เงินได้ส่วนที่เป็นค่ารักษาพยาบาลที่นายจ้างจ่ายให้ หรือจ่ายแทนลูกจ้างเป็นค่ารักษาพยาบาล สำหรับ 
                                         (ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดาน ซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับการรักษาพยาบาลที่กระทำในประเทศไทย 
                                         (ข) ลูกจ้างในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว
ทั้งนี้ เงินจำนวนดังกล่าวได้จ่ายไปทั้งหมดในการนั้น
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 149 (พ.ศ. 2523) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปี 2523 เป็นต้นไป) 
                                 (5) (ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 187 (พ.ศ. 2534) ความเดิมยังคงใช้บังคับสำหรับการโอนกรรมสิทธิในพันธบัตรของรัฐบาลที่ออกจำหน่ายก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534) 
                                 (6) เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เป็นเงินค่าเช่าบ้านหรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่ให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตรเงินค่าเบี้ยกันดาร เงินยังชีพ หรือเงินค่าอาหารทำการนอกเวลา
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 136 (พ.ศ. 2517) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปี 2517 เป็นต้นไป) 
                                 (7) (ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 187 (พ.ศ. 2534) ความเดิมยังคงใช้บังคับสำหรับดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาลและพันธบัตรของรัฐบาลที่เริ่มจำหน่ายก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534) 
                                (8) เงินค่าเช่าบ้านที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจ ซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล เท่าที่ผู้มีเงินได้ได้จ่ายไปโดยสุจริตตามความเป็นจริง หรือเงินที่คำนวณได้จากมูลค่าของการได้อยู่บ้านที่รัฐวิสาหกิจดังกล่าวให้อยู่โดยไม่ต้องเสียค่าเช่า และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้ 
                                (9) เงินช่วยการศึกษาบุตร เงินช่วยเหลือบุตร เงินค่าเบี้ยกันดารหรือเงินยังชีพ ที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 138 (พ.ศ. 2518) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปี 2517เป็นต้นไป) 
                               (10) รางวัลที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการป้องกันมิให้มีการกระทำผิดเกี่ยวกับภาษีอากร
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 139 (พ.ศ. 2518) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปี 2518เป็นต้นไป) 
                               (11) ดอกเบี้ยเงินสะสมที่ได้รับจากรัฐวิสาหกิจซึ่งมิใช่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล ในอัตราเดียวกับที่ทางราชการจ่ายให้แก่ข้าราชการ และรัฐวิสาหกิจผู้จ่ายเงินมิได้ออกค่าภาษีเงินได้สำหรับเงินได้จำนวนดังกล่าวให้
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 145 (พ.ศ. 2522) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปี 2522 เป็นต้นไป) 
                               (12) เงินได้ที่เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลต่างประเทศซึ่งปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทยได้รับจากรัฐบาลของตน ทั้งนี้ โดยให้เป็นไปตามหลักถ้อยทีถ้อยปฏิบัติต่อกัน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 146 (พ.ศ. 2522) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปี 2522 เป็นต้นไป) 
                               (13) เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนและเงินใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ที่คนต่างด้าวซึ่งเป็นผู้แทนของคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศปฏิบัติหน้าที่ในประเทศไทย ได้รับจากคณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 145 (พ.ศ. 2522) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปี 2522 เป็นต้นไป) 
                               (14) (ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 169 (พ.ศ. 2529) ใช้บังคับ 2 กุมภาพันธ์ 2529 เป็นต้นไป) 
                               (15) เงินได้ที่ทางราชการจ่ายให้เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และกระทรวงการคลังได้อนุญาตให้เบิกจ่ายได้
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 152 (พ.ศ. 2523) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ไม่ว่าที่ได้รับก่อนหรือตั้งแต่ 6 ตุลาคม 2523 เป็นต้นไป) 
                               (16) เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างและเงินใด ๆ บรรดาที่ได้เนื่องจากหน้าที่หรือตำแหน่งงานที่ทำหรือจากการรับทำงานให้ที่คนต่างด้าวซึ่งไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับจาก 
                                        (ก) คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นฐานในการปฏิบัติงานในประเทศไทย 
                                        (ข) รัฐบาลแห่งประเทศของตนในการปฏิบัติงานเกี่ยวกับการช่วยเหลือผู้อพยพจากอินโดจีนในประเทศไทย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 154 (พ.ศ. 2524) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ปี 2524 เป็นต้นไป) 
                               (17) เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์อันเป็นมรดกหรือสังหาริมทรัพย์ที่ได้รับจากการให้โดยเสน่หา ที่ตั้งอยู่นอกเขตกรุงเทพมหานคร เทศบาล สุขาภิบาล หรือเมืองพัทยา หรือการปกครองท้องถิ่นอื่นที่มีกฎหมายจัดตั้งขึ้นโดยเฉพาะ ทั้งนี้ เฉพาะเงินได้จากการขายในส่วนที่ไม่เกิน 200,000 บาท ตลอดปีภาษีนั้น 
                               (18) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ให้แก่บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายของตนโดยไม่มีค่าตอบแทน บุตรโดยชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวไม่รวมถึงบุตรบุญธรรมด้วย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 155 (พ.ศ. 2525) ใช้บังคับ 27 กุมภาพันธ์ 2525 เป็นต้นไป) 
                               (19) เงินได้จากการขายสินค้ายาสูบ ที่โรงงานยาสูบ กระทรวงการคลังได้เสียภาษีเงินได้แทนผู้ขายสินค้าดังกล่าวทุกทอดตามมาตรา 48 ทวิ แห่งประมวลรัษฎากร
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 156 (พ.ศ. 2526) ใช้บังคับ 28 สิงหาคม 2525) 
                               (20) ยกเลิกโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 187 (พ.ศ. 2534) ความเดิมยังคงใช้สำหรับการโอนกรรมสิทธิ์ในใบรับฝากเงินประเภทประจำของธนาคารโดยมีดอกเบี้ยที่ได้มีการออกใบรับฝากก่อนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2534 
                              “(21) เงินได้ดังต่อไปนี้ 
                                         (ก) ดอกเบี้ยพันธบัตรหรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ 
                                         (ข) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาจำหน่ายพันธบัตรหรือหุ้นกู้ที่ออกจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน 
                                         (ค) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนพันธบัตรหรือหุ้นกู้
ทั้งนี้ เฉพาะพันธบัตรหรือหุ้นกู้ของรัฐบาล องค์การของรัฐบาล หรือสถาบันการเงินที่มีกฎหมายโดยเฉพาะของประเทศไทยจัดตั้งขึ้นสำหรับให้กู้ยืมเงินเพื่อส่งเสริมเกษตรกรรม พาณิชยกรรม หรืออุตสาหกรรม และผู้มีเงินได้นั้นมิได้เป็นผู้อยู่ในประเทศไทย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 249 (พ.ศ. 2548) ใช้บังคับ 25 มกราคม 2548 เป็นต้นไป) 
                               (22) ดอกเบี้ยเงินฝากประเภทออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 187 (พ.ศ. 2534) ความเดิมยังคงใช้บังคับที่ได้มีการออกบัตรก่อน 8 พฤศจิกายน 2534) 
                               (23) เงินได้จากการขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแต่ไม่รวมถึงเงินได้จากการขายหลักทรัพย์ที่เป็นหุ้นกู้หรือพันธบัตร
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 187 (พ.ศ. 2534) ความเดิมยังคงใช้บังคับดอกเบี้ยพันธบัตรของรัฐบาลและพันธบัตรของรัฐบาลที่เริ่มจำหน่ายก่อน 8 พฤศจิกายน 2534) 
                               (24) เงินได้จากการขายโลหะดีบุกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 สำหรับโลหะดีบุกที่ซื้อมาระหว่างวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับ ถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2530
ทั้งนี้ เฉพาะที่ไม่นำรายจ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการซื้อและขายโลหะดีบุกดังกล่าวไปรวมคำนวณเป็นรายจ่ายในการคำนวณเงินได้สุทธิ
ในกรณีที่รายจ่ายบางรายการไม่สามารถแยกเป็นรายจ่ายเกี่ยวกับกิจการซื้อและขายโลหะดีบุกหรือเกี่ยวกับกิจการอื่นได้โดยชัดแจ้ง ให้เฉลี่ยรายจ่ายตามส่วนของเงินได้ของแต่ละกิจการนั้น 
                               (25) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไร แล้วแต่กรณีจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล หรือจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่เป็นการคำนวณจากเงินได้จากการขายโลหะดีบุกตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2531 สำหรับโลหะดีบุกที่ซื้อมาระหว่างวันที่กฎกระทรวงนี้ใช้บังคับถึงวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2530 และรายจ่ายในส่วนที่เกี่ยวกับกิจการซื้อและขายโลหะดีบุกดังกล่าว
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 171 (พ.ศ. 2529) ใช้บังคับ 18 กันยายน 2529 เป็นต้นไป) 
                               (26) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิชัยพัฒนา
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 177 (พ.ศ. 2531) ใช้บังคับ 9 ธันวาคม 2531 เป็นต้นไป) 
                              (27) เงินได้สำหรับรางวัลสลากการกุศลสร้างตึกสยามมินทร์ ซึ่งออกเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2531 และเงินได้จากการขายหรือส่วนลดจากการซื้อสลากการกุศลสร้างตึกสยามมินทร์ 
                              (28) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมรัพย์โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ 
                              (29) เงินค่าทดแทนตามกฎหมายว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ ทั้งนี้เฉพาะที่ดินที่ต้องเวนคืน และอสังหาริมทรัพย์อื่นบนที่ดินที่ต้องเวนคืน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 184 (พ.ศ. 2533) ใช้บังคับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับใน พ.ศ. 2532 ที่จะต้องยื่นรายการใน พ.ศ. 2533 เป็นต้นไป) 
                               (30) เงินได้พึงประเมินดังต่อไปนี้ 
                                        (ก) ผลต่างระหว่างราคาไถ่ถอนกับราคาซื้อตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออกและมีการจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน แต่ไม่รวมถึงกรีที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเป็นผู้ทรงคนแรก
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 196 (พ.ศ. 2538) ใช้บังคับ 11 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป) 
                                        (ข) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก ทั้งนี้ เฉพาะตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่ไม่มีดอกเบี้ย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 223 (พ.ศ. 2542) ใช้บังคับ 30 กรกฎาคม 2542 เป็นต้นไป) 
                                     “ (ค) ดอกเบี้ยที่ได้จากตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ใด ๆ ที่บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือนิติบุคคลอื่นเป็นผู้ออก เฉพาะส่วนที่เกิดขึ้นด่อนการเป็นผู้ทรงตั๋วเงินหรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ของผู้มีเงินได้ ทั้งนี้ ต้องมีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ตามมาตรา 50(2) แห่งประมวลรัษฎากร จากดอกเบี้ยดังกล่าวทั้งจำนวนไว้แล้ว “
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 231 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 14 กันยายน 2544 เป็นต้นไป)
ในกรณีที่เงินได้พึงประเมินตามวรรคหนึ่งเกิดจากตั๋วเงิน หรือตราสารแสดงสิทธิในหนี้ที่มีการจำหน่ายครั้งแรกในราคาต่ำกว่าราคาไถ่ถอน จะต้องเป็นกรณีที่ได้มีการหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายจากเงินได้ของบุคคลธรรมดาที่เป็นผู้ทรงคนแรกไว้แล้วตาม มาตรา 50 (2)(ค) แห่งประมวลรัษฎากร และผู้จ่ายเงินได้ได้ประทับตราว่าได้หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่ายบนตราสารแล้วเท่านั้น
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 196 (พ.ศ. 2538) ใช้บังคับ 11 กรกฎาคม 2538 เป็นต้นไป) 
                              (31) เงินได้ที่ผู้เชี่ยวชาญของประชาคมยุโรปที่เป็นคนต่างด้าว และไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับเนื่องจากการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้โครงการ ความช่วยเหลือที่ประเทศไทยได้รับจากประชาคมยุโรป
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 190 (พ.ศ. 2535) ใช้บังคับ 13 มีนาคม 2535 เป็นต้นไป) 
                             “(32) เงินได้จากการขายหน่วยลงทุนในกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ แต่ไม่รวมถึงเงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพหรือกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ใช้บังคับ 31 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไป) 
                              (33) เงินได้ที่คณะกรรมการอำนวยการปรับปรุงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาทได้รับเพื่อประโยชน์ในการสร้างพระที่นั่งองค์ใหม่และปรับปรุงพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 193 (พ.ศ. 2536) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2536 เป็นต้นไป) 
                              (34) เงินได้ที่คำนวณได้จากมูลค่าของเครื่องแบบซึ่งลูกจ้างได้รับจากนายจ้างในจำนวนคนละไม่เกินสองชุดต่อไป และเสื้อนอกในจำนวนคนละไม่เกินหนึ่งตัวต่อปี
                                      “เครื่องแบบ” ตามวรรคหนึ่ง หมายความว่า เครื่องแต่งกาย รวมทั้งสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่กำหนดให้แต่งเพื่อใช้ในการปฏิบัติงาน แต่ไม่รวมถึงรองเท้าที่อาจใช้งานได้ทั่วไป ชุดชั้นใน หรือสิ่งประกอบเครื่องแต่งกายที่ทำด้วยโลหะหรืออัญมณีที่มีค่าเช่น เงิน ทองคำ ทับทิม หยก
                                      “เสื้อนอก” ตามวรรคหนึ่ง หมายความรวมถึง ชุดไทยพระราชทานและเสื้อที่นิยมใช้ในการแต่งกายไปในงานสำคัญต่างๆ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 194 (พ.ศ. 2537) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2537 เป็นต้นไป) 
                              (35) เงินได้เท่าที่ลูกจ้างจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในอัตราไม่เกินร้อยละ 15 ของค่าจ้างเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 290,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น 
                              (36) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ลูกจ้างได้รับจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อลูกจ้างออกจากงานเพราะเกษียณอายุทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 195 (พ.ศ. 2538) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2537 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 52)) 
                               (37) เงินปันผลหรือเงินส่วนแบ่งของกำไรจากบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ได้จากกิจการโรงเรียนเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือกิจการสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ทั้งนี้ บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลดังกล่าวจะต้องมิได้ประกอบกิจการอื่นนอกจาก กิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือกิจการสถาบัยอุดมศึกษาเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 197 (พ.ศ. 2538) ใช้บังคับ 11 พฤษภาคม 2538 เป็นต้นไป) 
                               (38) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรที่ต้องจ่ายคืนเมื่อทวงถามประเภทออมทรัพย์ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยดังกล่าวในจำนวนรวมกันทั้ง-สิ้นไม่เกินสองหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 200 (พ.ศ. 2538) ใช้บังคับ 29 พฤศจิกายน 2538เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 55)) 
                               (39) เงินได้ส่วนที่เป็นเงินเดือนหรือค่าจ้างที่คนประจำเรือได้รับเนื่อง-จากการปฏิบัติงานบนเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพาณิชยนาวีที่ใช้ในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 204 (พ.ศ. 2539) ใช้บังคับ 26 กันยายน 2539 เป็นต้นไป) 
                               (40) เงินได้ที่คณะกรรมการบริหาร “ทุนการกุศลสมเด็จพระเทพฯ” ได้รับเพื่อประโยชน์ของทุนการกุศลสมเด็จพระเทพฯ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 205 (พ.ศ. 2540) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 2 เมษายน 2540 เป็นต้นไป) 
                               (41) เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้ 
                                         (ก) บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย 
                                         (ข) อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) พร้อมที่ดินี้ 
                                         (ค) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด
                                       ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ได้อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) (ข) หรือ (ค) โดยจดทะเบียนการได้มาใน พ.ศ. 2540 และขายอสังหาริมทรัพย์นั้นภายหลังจากการจดทะเบียนไม่น้อยกว่าหนึ่งปี แต่ไม่เกินวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 206 (พ.ศ. 2540) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2540 เป็นต้นไป) 
                               (42) ผลประโยชน์ที่ได้จากการควบเข้ากันของธนาคารตามกฎหมายว่าด้วยการธนาคารพาณิชย์ และหรือบริษัทเงินทุน บริษัทหลักทรัพย์ หรือบริษัทเครดิต ฟองซิเอร์ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์และธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 207 (พ.ศ. 2540) ใช้บังคับ 23 กันยายน 2540 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 69)) 
                               (43) เงินได้เท่าที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการจ่ายเป็นเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาท สำหรับปีภาษีนั้น 
                               (44) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่สมาชิกกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการได้รับจากกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ เนื่องจากออกจากราชการเพราะเหตุสูงอายุ เหตุทุพพลภาพ เหตุทดแทนหรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 208 (พ.ศ. 2540) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 27 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 70)) 
                               (45) เงินได้ที่คณะกรรมการกองทุนลานกีฬาต้านยาเสพติด สำนักนายกรัฐมนตรีได้รับเพื่อประโยชน์ของกองทุนลานกีฬาต้านยาเสพติดดังกล่าว
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 209 (พ.ศ. 2541) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 4 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป) 
                               (46) ดอกเบี้ยพันธบัตรออมสิน รุ่นพันธบัตรเงินฝากช่วยชาติ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 210 (พ.ศ. 2541) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 4 มีนาคม 2540 เป็นต้นไป) 
                                (47) เงินได้ที่เป็นเงินเดือนหรือค่าตอบแทนที่เจ้าหน้าที่ของศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ ซึ่งเป็นคนต่างด้าวและไม่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยได้รับจากศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ เนื่องจากการเข้ามาทำงานในประเทศไทย ภายใต้ข้อตกลงระห่างรัฐบาลไทยและศูนย์วิจัยวนเกษตรนานาชาติ
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 211 (พ.ศ. 2541) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 21 ตุลาคม 2539 เป็นต้นไป) 
                                (48) รางวัลบัตรออกทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 213 (พ.ศ. 2541) ใช้บังคับสำหรับรางวัลบัตรออมทรัพย์ที่ออกรางวัลตั้งแต่ 10 มีนาคม 2541 เป็นต้นไป) 
                                (49) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในที่ดินโดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่วัด วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค หรือมัสยิด ที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น ทั้งนี้ เฉพาะการโอนที่ดินส่วนที่ทำให้วัด วัดบาดหลวงโรมันคาธอลิค หรือมัสยิดมีที่ดินไม่เกินห้าสิบไร
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 214 (พ.ศ. 2541) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 22 ตุลาคม 2541 เป็นต้นไป) 
                                (50) ผลประโยชน์ที่ได้จากการที่ผู้ประกดอบกิจการซึ่งเป็นบริษัทมหาชนจำกัดหรือบริษัทจำกัดควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด ซึ่งตีราคาเป็นเงินได้เกินกว่าเงินทุน
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 215 (พ.ศ. 2541) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 14 พฤศจิกายน 2541 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการควบเข้ากันหรือโอนกิจการทั้งหมดให้แก่กันของบริษัทมหาชน จำกัด หรือบริษัทจำกัด) 
                                (51) ค่าชดเชยที่ลูกจ้างได้รับตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและค่าชดเชยที่พนักงานได้รับตามกฎหมายว่าด้วยพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ แต่ไม่รวมถึงค่าชดเชยที่ลูกจ้างหรือพนักงานได้รับเพราะเหตุเกษียณอายุหรือสิ้นสุดสัญญาจ้าง ทั้งนี้เฉพาะค่าชดเชยส่วนที่ไม่เกินค่าจ้างหรือเงินเดือนค่าจ้างของการทำงานสามร้อยวันสุดท้ายแต่ไม่เกินสามแสนบาท
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 217 (พ.ศ. 2542) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2541 เป็นต้นไป) 
                                (52) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืม สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด ทั้งนี้ เฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ซึ่งจ่ายให้แก่   
                                           (ก) กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์เพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์  
                                           (ข) กองทุนรวมเพื่อแก้ไขปัญหาในระบบสถาบันการเงินที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์
                                           (ค) นิติบุคคลเฉพาะกิจซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินการแปลงสินทรัพย์เป็นหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยนิติบุคคลเฉพาะกิจเพื่อการแปลงสินทรัพย์ เป็นหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่นิติบุคคลเฉพาะกิจดังกล่าวเข้ารับช่วงสิทธิเป็นเจ้าหนี้เงินกู้แทนกองทุนรวมตาม (ก) หรือ (ข) ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง
                                กรณีที่ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตาม (53) หรือ (59) รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม (53) หรือ (59) แล้วแต่กรณี ต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท  
                                 อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย  

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ. 2550) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป) 
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 87))
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 102))
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 103)) 
                              (53) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่ธนาคารหรือสถาบันการเงินอื่น บริษัทประกันชีวิต สหกรณ์ หรือนายจ้าง สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย โดยจำนองอาคารที่ซื้อหรือสร้างเป็นประกันการกู้ยืมนั้น ตามจำนวนที่จ่ายจริงในส่วนที่เกินหนึ่งหมื่นบาทแต่ไม่เกินเก้าหมื่นบาท และเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
                                       กรณีที่ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตาม (52) หรือ (59) รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับค่าลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม (52) หรือ (59) แล้วแต่กรณี ต้องไม่เกินหนึ่งแสนบาท
                                       อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ. 2550) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 88)) 
                              (54) เงินได้เท่าที่ครูใหญ่หรือครูโรงเรียนเอกชนจ่ายเป็นเงินสมทบเข้ากองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 300,000 บาทสำหรับปีภาษีนั้น
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 227 (พ.ศ. 2543) ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป) 
                            “(55) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ในอัตราไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ จะต้องมีจำนวนไม่เกินสามแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ใช้บังคับตั้งแต่ 31 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไป) 
                                                     กรณีที่ผู้มีเงินได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือได้จ่ายเงินสะสมเข้ากองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการด้วยเงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับเงินสะสมที่จ่ายเข้ากองทุนสำรองเลี้ยงชีพหรือกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการต้องไม่เกิน 300,000 บาท                                      

                                       เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนด
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 90))
                                       ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในวรรคสามให้ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งและต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่งมาแล้วด้วย 
                               (56) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ได้รับจากกองทุนรวมดังกล่าวเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 228 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 91)) 
                              “ (57) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ครูใหญ่หรือครูโรงเรียนเอกชนได้รับจากกองทุนสงเคราะห์ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน เมื่อครูใหญ่หรือครูโรงเรียนเอกชนออกจากงานเพราะเหตุสูงอายุ ทุพพลภาพ หรือตาย ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และวิธีการที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 233 (พ.ศ. 2544) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2543 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 99) ) 
                              “ (58) เงินได้พึงประเมิน ดังต่อไปนี้
(ก) เงินปันผลที่ได้จากการถือหุ้นในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 อัฏฐารส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 396) พ.ศ. 2545 (ข) ผลประโยชน์ที่ได้จากการโอนหุ้นของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประกอบกิจการธุรกิจเงินร่วมลงทุน และได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 5 อัฏฐารส แห่งพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 10) พ.ศ. 2500 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 396) พ.ศ. 2545 ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 235 (พ.ศ. 2545) ใช้บังคับ 1 มีนาคม 2545 เป็นต้นไป) 
                               “ (59) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นดอกเบี้ยเงินกู้ยืมให้แก่กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ สำหรับการกู้ยืมเงินเพื่อซื้อ เช่าซื้อ หรือสร้างอาคารที่อยู่อาศัย ตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งแสนบาท และเฉพาะดอกเบี้ยเงินกู้ยืมที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2550 เป็นต้นไป ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด
                               กรณีที่ผู้มีเงินได้หักลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินได้ตาม (52) หรือ (53) รวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่งเมื่อรวมกับ ค่าลดหย่อนตามมาตรา 47(1)(ซ) แห่งประมวลรัษฎากร หรือเงินได้ตาม (52) หรือ (53) แล้วแต่กรณี ต้อง ไม่เกินหนึ่งแสนบาท
                                 อาคารตามวรรคหนึ่งให้หมายความรวมถึงอาคารพร้อมที่ดินด้วย  

(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 264 (พ.ศ. 2550) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2550 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 122) ) 
                               “(60) ดอกเบี้ยและรางวัลสลากออมทรัพย์ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร แต่ไม่รวมถึงดอกเบี้ยซึ่งผู้รับมิใช่ผู้ทรงคนแรก ทั้งนี้ สำหรับสลากออมทรัพย์ที่ออกจำหน่ายตั้งแต่วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2545 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 239 (พ.ศ. 2545) ใช้บังคับ 28 กันยายน 2545 เป็นต้นไป) 
                               “(61) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยในปีภาษีสำหรับการประกันชีวิตของผู้มีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริงเฉพาะส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 40,000 บาท เฉพาะในกรณีที่กรมธรรม์ประกันชีวิตมีกำหนดเวลาตั้งแต่สิบปีขึ้นไป และการประกันชีวิตนั้นได้เอาประกัน ไว้กับผู้รับประกันภัยที่ประกอบกิจการประกันชีวิตในราชอาณาจักร ทั้งนี้ สำหรับเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2545 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 240 (พ.ศ. 2545) ใช้บังคับ 28 กันยายน 2545 เป็นต้นไป)
( ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2545 เป็นต้นไป ) 
                              “(62) เงินได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ดังต่อไปนี้ 
                                          (ก) บ้าน โรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ซึ่งโดยปกติใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย 
                                          (ข) อสังหาริมทรัพย์ตาม (ก) พร้อมที่ดิน 
                                           (ค) ห้องชุดสำหรับการอยู่อาศัยในอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด 
                                     ทั้งนี้ เฉพาะสำหรับกรณีการทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งผู้มีเงินได้ใช้เป็น ที่อยู่อาศัยอันเป็นแหล่งสำคัญ โดยมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎรเป็นเวลาไม่น้อยกว่าหนึ่งปีนับแต่วันที่ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์นั้น ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด 
                                     การได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง ต้องปรากฏว่าภายในกำหนดเวลาหนึ่งปีก่อนหรือ นับแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว ผู้มีเงินได้ได้ทำสัญญาซื้อขายอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ซึ่งมีลักษณะตาม (ก) (ข) หรือ (ค) เพื่อใช้เป็นที่อยู่อาศัยของตน และให้ได้รับยกเว้นเท่ากับจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว แต่ไม่เกินจำนวนมูลค่าของอสังหาริมทรัพย์แห่งใหม่ ทั้งนี้ ให้ถือตามราคาประเมินทุนทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดิน“
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 241 (พ.ศ. 2546) ใช้บังคับกับการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือกฎหมายว่าด้วยอาคารชุดแล้วแต่กรณี สำหรับการขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทำตั้งแต่ 1 มกราคม 2546 เป็นต้นไป)
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 125) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2546 ) 
                               “(63) เงินได้จากการขายข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้า แห่งประเทศไทย เฉพาะกรณีที่ไม่มีการส่งมอบสินค้าเกษตร”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 244 ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่เปิดทำการซื้อขายข้อตกลงซื้อขายล่วงหน้าในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทยเป็นต้นไป) 
                               “(64) บำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการ และกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2546”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 245 ใช้บังคับ 10 มีนาคม 2547 เป็นต้นไป) 
                                “(65) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปี นับตั้งแต่วันซื้อหน่วยลงทุนครั้งแรก และเงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ตาม (55) 
                                  (66) เงินได้เท่าที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ที่ได้มีการจดทะเบียนกองทรัพย์สินเป็นกองทุนรวมภายในวันที่ 30 มิถุนายน พ.ศ.2550 ในอัตราไม่เกินร้อยละสิบห้าของเงินได้พึงประเมิน ทั้งนี้ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินสามแสนบาท สำหรับปีภาษีนั้น และเงินได้ดังกล่าวต้องเป็นเงินได้ของผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดา แต่ไม่รวมถึงห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคลและกองมรดกที่ยัง ไม่ได้แบ่ง 
                                            เงินได้ที่ได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง และการถือหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด
ในกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดใน วรรคสอง ให้ผู้มีเงินได้หมดสิทธิได้รับยกเว้นตามวรรคหนึ่ง และต้องเสียภาษีเงินได้สำหรับเงินได้ที่ได้รับยกเว้นภาษีตามวรรคหนึ่งด้วย
(ดูประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ ฉบับที่ (133) ใช้บังคับ 3 กันยายน 2547 เป็นต้นไป) 
                                   (67) เงินหรือผลประโยชน์ใด ๆ ที่ได้รับเนื่องจากการขายหน่วยลงทุนคืนให้แก่ กองทุนรวมหุ้นระยะยาวตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดทรัพย์ ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มี เงินได้ถือหน่วยลงทุนดังกล่าวมาแล้วไม่น้อยกว่าห้าปีปฏิทิน แต่ไม่รวมถึงกรณีทุพพลภาพหรือตาย และเงินหรือผลประโยชน์ดังกล่าวคำนวณมาจากเงินได้พึงประเมินที่ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้ ตาม (66)”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 246 (พ.ศ. 2547) ใช้บังคับ 31 สิงหาคม 2547 เป็นต้นไป) 
                                 “(68) เงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนตามมาตรา 47 (1)(2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เท่าจำนวนเงินที่ได้บริจาคเพื่อการกีฬา ให้แก่การกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการกีฬา คณะกรรมการกีฬาจังหวัดที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการกีฬาแห่งประเทศไทยเพื่อส่งเสริมกีฬาในจังหวัด สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการเพื่อการจัดการแข่งขันกีฬานักเรียน หรือสมาคมกีฬาสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตจากการกีฬาแห่งประเทศไทย แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนดังกล่าว”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 248 (พ.ศ. 2547) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป) 
                                 “(69) ดอกเบี้ยเงินฝากธนาคารในราชอาณาจักรเฉพาะดอกเบี้ยเงินฝากประจำที่มีระยะเวลาการฝากตั้งแต่หนึ่งปีขึ้นไป แต่เมื่อรวมกับดอกเบี้ยเงินฝากประจำทุกประเภทรวมกันแล้วต้องมีจำนวนทั้งสิ้นไม่เกินสามหมื่นบาทตลอดปีภาษีนั้น และผู้มีเงินได้ได้รับดอกเบี้ยเงินฝากดังกล่าวเมื่อมีอายุไม่ต่ำกว่าห้าสิบห้าปีบริบูรณ์ ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2548 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 250 (พ.ศ. 2548) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป) 
                                 “(70) เงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนตามมาตรา 47(1) (2) (3) (4) (5) หรือ (6) แห่งประมวลรัษฎากร เท่าจำนวนที่บริจาคให้แก่ส่วนราชการ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย อัคคีภัย หรือภัยธรรมชาติอื่น แต่เมื่อรวมกับเงินบริจาคตามมาตรา 47(7) แห่งประมวลรัษฎากรแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสิบของเงินได้พึงประเมินหลังจากหักค่าใช้จ่ายและหักค่าลดหย่อนดังกล่าวนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ. 2547 ที่ต้องยื่นรายการในปี พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 253 (พ.ศ. 2548) ลงวันที่ 28 มีนาคม 2548 ใช้บังคับสำหรับเงินได้พึงประเมินประจำปี พ.ศ 2547 ที่ต้องยื่นรายการในปี พ.ศ 2548 เป็นต้นไป) 
                                 “(71) เงินได้จากการโอนกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองในอสังหาริมทรัพย์ โดยไม่มีค่าตอบแทนให้แก่สภากาชาดไทย”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 256 (พ.ศ. 2548) ใช้บังคับ 22 สิงหาคม 2548 เป็นต้นไป) 

                                 “(72) เงินได้ที่ผู้มีเงินได้ซึ่งเป็นผู้อยู่ในประเทศไทยและมีอายุไม่ต่ำกว่าหกสิบห้าปีบริบูรณ์ในปีภาษีได้รับ เฉพาะส่วนที่ไม่เกินหนึ่งแสนเก้าหมื่นบาทในปีภาษีนั้น ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป โดยเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีกรมสรรพากรประกาศกำหนด”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 257 (พ.ศ. 2549) ใช้บังคับสำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2548 เป็นต้นไป) 


                                 “(73) เงินที่มีลักษณะเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ซึ่งพนักงานการท่าเรือแห่งประเทศไทย พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทย และพนักงานธนาคารออมสินได้รับ โดยมีอัตราและวิธีการคำนวณเช่นเดียวกับบำเหน็จดำรงชีพตามกฎหมายว่าด้วยบำเหน็จบำนาญข้าราชการและกฎหมายว่าด้วยกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 258 (พ.ศ. 2549) ใช้บังคับ 10 มีนาคม 2547 เป็นต้นไป) 

                                 “(74) เงินได้ที่คณะกรรมการโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทยได้รับเพื่อประโยชน์ของโครงการทุนเล่าเรียนหลวงสำหรับพระสงฆ์ไทย ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 259 (พ.ศ. 2549) ใช้บังคับ 5 กุมภาพันธ์ 2547 เป็นต้นไป)

                                “(75) เงินได้จากการขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้าซึ่งกระทำในศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า เฉพาะกรณีที่ไม่มีการส่งมอบสินค้า ทั้งนี้ สำหรับเงินได้พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 เป็นต้นไป”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 260 (พ.ศ. 2549) ใช้บังคับ 1 พฤศจิกายน 2548 เป็นต้นไป)

                                “(76) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้จ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัท ประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักรตามจำนวนที่จ่ายจริงแต่ไม่เกินหนึ่งหมื่นห้าพัน บาท สำหรับการประกันสุขภาพบิดามารดาของผู้มีเงินได้ รวมทั้งบิดามารดาของสามีหรือภริยาของผู้มี เงินได้ซึ่ง มีรายได้ไม่เพียงพอ แก่การยังชีพ ทั้งนี้ ต้องเป็นเบี้ยประกันภัยที่ได้จ่ายในปี พ.ศ. 2549 เป็น ต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่อธิบดีกำหนด

                                “(77) เงินได้เท่าที่นายจ้างจ่ายเป็นเบี้ยประกันภัยให้แก่บริษัทประกันชีวิตหรือบริษัทประกันวินาศภัยที่ประกอบกิจการในราชอาณาจักร สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่มีกำหนดเวลาไม่เกินหนึ่งปี เฉพาะในส่วนที่คุ้มครองค่ารักษาพยาบาลสำหรับ

                                      (ก) ลูกจ้าง สามี ภริยา บุพการีหรือผู้สืบสันดานซึ่งอยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของลูกจ้าง ทั้งนี้ เฉพาะการรักษาพยาบาลในประเทศไทย

                                      (ข) ลูกจ้าง ในกรณีที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาพยาบาลในต่างประเทศ ในขณะที่ปฏิบัติการตามหน้าที่ในต่างประเทศเป็นครั้งคราว

                                       ทั้งนี้ สำหรับเงินได้ที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2549 เป็นต้นไป ”
(แก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 263 (พ.ศ. 2549) ใช้บังคับ 1 มกราคม 2549 เป็นต้นไป)

ให้ไว้ ณ วันที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2509

ส.วินิจฉัยกุล

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

 

(ร.จ. เล่ม 83 ตอนที่ 17 วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2509)

space

NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > กฎกระทรวง > ฉบับที่ 126