บทบัญญัติแห่งประมวลรัษฎากร
พระราชกฤษฎีกา
กฎกระทรวง
คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยภาษีอากร
ประกาศกระทรวงการคลัง
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
คำสั่งกรมสรรพากร
ประกาศกรมสรรพากร
 
 
     
  ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร
เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉบับที่ 159)
เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม



อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 85 วรรคสี่ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 30) พ.ศ. 2534 อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขเกี่ยวกับการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต และการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังต่อไปนี้
ข้อ 1  ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามแบบที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนด (ภ.พ.01) ผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ทางเว็บไซต์ (Web Site) ของกรมสรรพากร http://www.rd.go.th โดยให้ถือเป็นการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้อีกวิธีหนึ่ง
ข้อ 2  ผู้ประกอบการซึ่งจะเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มก่อนวันเริ่มประกอบกิจการได้ในเมื่อ
(1) ผู้ประกอบการดังกล่าวมีแผนงานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าได้เตรียมการเพื่อประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และ
(2) มีการดำเนินการเพื่อเตรียมประกอบกิจการ อันเป็นเหตุให้ต้องมีการ ซื้อสินค้าหรือรับบริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม เช่น การก่อสร้างโรงงาน การก่อสร้างอาคารสำนักงาน หรือการติดตั้งเครื่องจักร
ให้ผู้ประกอบการตามวรรคหนึ่ง มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในกำหนดหกเดือนก่อนวันเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ เว้นแต่จะมีสัญญาหรือหลักฐานที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจะดำเนินการก่อสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงานหรือติดตั้ง เครื่องจักร หรือมีการกระทำในลักษณะทำนองเดียวกัน ให้มีสิทธิยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้ภายในเวลาที่เหมาะสมและจำเป็นต่อการก่อสร้างโรงงานหรืออาคารสำนักงานหรือติดตั้งเครื่องจักร
ข้อ 3  ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม และไม่มีสิทธิที่จะยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มตามข้อ 2. ให้ยื่นคำขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้เมื่อเริ่มประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการ
ข้อ 4  ผู้ประกอบการซึ่งประกอบกิจการที่ได้รับยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มตามประเภทที่กำหนดในมาตรา 81/3 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลรัษฎากร และได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา 81/3 แห่งประมวลรัษฎากร ให้ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้แจ้งต่ออธิบดีกรมสรรพากรเพื่อขอเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม
ข้อ 5  ให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยแสดงรายการ ให้ถูกต้องครบถ้วน และต้องมีหลักฐานเอกสารตามรายการที่แสดงในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย
ข้อ 6  ให้เจ้าพนักงานสรรพากรตรวจสอบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ยื่นผ่านระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตว่าผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มได้แสดงรายการ ถูกต้องครบถ้วนหรือไม่ และตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อนดำเนินการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ
ผู้ประกอบการที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แม้ว่าจะได้แสดงรายการในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มครบถ้วนแล้ว ถ้าเป็นกรณีเข้าลักษณะดังต่อไปนี้ ไม่ให้เจ้าพนักงานสรรพากรออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการ
(1) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการแสดงรายการในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นเท็จ
(2) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทน ผู้ประกอบการเป็นตัวแทนเชิดของเจ้าของกิจการที่แท้จริง
(3) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าไม่มีสถานประกอบการจริงตามที่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
(4) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการใช้สำนักงานกฎหมายหรือสำนักงานบัญชีของบุคคลอื่นเป็นสถานประกอบการ เว้นแต่กรณีเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการที่อยู่นอกราชอาณาจักร
(5) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการมิได้ประกอบกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือมิใช่ผู้ประกอบการซึ่งขายสินค้าหรือให้บริการที่แท้จริง
(6) ปรากฏข้อเท็จจริงว่าผู้ประกอบการดังกล่าวเคยเป็นผู้ประกอบการ จดทะเบียนแต่ภายหลังถูกอธิบดีกรมสรรพากรสั่งเพิกถอนการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มไปครั้งหนึ่งแล้ว โดยมูลเหตุมาจากกรณีตาม (1) ถึง (5)
ข้อ 7  ให้เจ้าพนักงานสรรพากรดำเนินการออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ให้แก่ผู้ประกอบการ กรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่งให้ออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายสถานประกอบการ
ข้อ 8  ให้ผู้ประกอบการเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามวันเดือนปีที่ผู้ประกอบการระบุในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01) ทั้งนี้ ผู้ประกอบการต้องกำหนดวันเดือนปีที่ ผู้ประกอบการมีความประสงค์เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันแต่ไม่เกินสามสิบวัน นับแต่วันที่ยื่นคำขอจดทะเบียน เว้นแต่กรณีที่เจ้าพนักงานสรรพากรไม่ออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการเพราะเข้าลักษณะตามข้อ 6 วรรคสอง ถือว่าผู้ประกอบการดังกล่าวมิได้เป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนตั้งแต่วันเดือนปีที่ผู้ประกอบการระบุในแบบคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.01)
ความในวรรคหนึ่ง อธิบดีกรมสรรพากรจะสั่งเป็นอย่างอื่นก็ได้
กรณีผู้ประกอบการมีสถานประกอบการหลายแห่งอยู่แล้วในขณะขอ จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม แต่ยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มโดยระบุเฉพาะสถานประกอบการที่เป็นสำนักงานใหญ่มิได้ระบุสถานประกอบการแห่งอื่น ๆ ไว้ในคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย ให้ถือว่าสถานประกอบการแห่งอื่น ๆ นั้นเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนวันเดือนปีเดียวกันกับสำนักงานใหญ่
ข้อ 9  ให้ผู้อำนวยการสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่หรือสรรพากรพื้นที่เป็น ผู้มีอำนาจออกใบทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับผู้ประกอบธุรกิจซึ่งกรมสรรพากรกำหนดให้อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักบริหารภาษีธุรกิจขนาดใหญ่หรือสถานประกอบการที่ตั้งอยู่ในเขตท้องที่รับผิดชอบของสำนักงานสรรพากรพื้นที่นั้น แล้วแต่กรณี
ข้อ 10  ในกรณีที่มีปัญหาในการปฏิบัติ ให้อธิบดีกรมสรรพากรมีอำนาจวินิจฉัย และคำวินิจฉัยของอธิบดีกรมสรรพากรให้ถือเป็นหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดตามประกาศนี้ด้วย
ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2547 เป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ 30 กรกฎาคม พ.ศ. 2547

ศุภรัตน์ ควัฒน์กุล
อธิบดีกรมสรรพากร


NAVIGATOR:  ประมวลรัษฎากร > ประกาศอธิบดีกรมสรรพากร > เกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ฉบับที่ 159