แนะวิธีกางเต็นท์พักแรม ช่วงฤดุหนาว
 
 
ชื่นชมธรรมชาติบนดอยอย่างปลอดภัย
     
     

เตือน!!! นักท่องเที่ยวที่นิยมชื่นชมธรรมชาติช่วงฤดูหนาวกางเต็นท์พักแรมในจุดที่ได้รับอนุญาต ไม่จุดไฟในเต็นท์ เพราะอาจถูกไฟคลอกหรือขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ รวมถึงระมัดระวังการประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดเพลิงไหม้และไฟป่า ที่สำคัญ ควรระมัดระวังการถ่ายรูป การเดินเล่น หรือยืนริมหน้าผาและชะง่อนหิน เพราะอาจพลัดตกลงมาเสียชีวิตได้

          นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า ช่วงฤดูหนาวนักท่องเที่ยวมักจะเดินทางไปสัมผัสกับธรรมชาติบนภูเขาและยอดดอย เพื่อพักผ่อนและชื่นชมกับทะเลหมอก โดยการกางเต็นท์พักแรมตามจุดให้บริการต่างๆ ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอุบัติภัยจากการกางเต็นท์พักแรมได้ จึงขอแนะวิธีท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ดังนี้ 

         การเลือกพื้นที่กางเต็นท์พักแรม ควรกางเต็นท์นอนในบริเวณจุดที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ไม่กางเต็นท์บริเวณเนินเขา ไหล่เขา เพื่อป้องกันการถูกกระแสน้ำพัดหากเกิดน้ำป่าไหลหลาก รวมถึงบริเวณริมธารน้ำ เพราะอาจได้รับอันตรายจากสัตว์ป่าที่ออกมาหากินในช่วงเวลากลางคืน 

          การจุดไฟให้แสงสว่าง ห้ามจุดตะเกียง เทียน หรือสูบบุหรี่ภายในเต็นท์ เพราะเต็นท์เป็นผ้าใบจึงติดไฟได้ง่าย อาจทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิต และหากร่างกายสูดดมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากควันไฟเข้าไปจำนวนมาก อาจทำให้เกิดการสำลักควันและขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้ กรณีจำเป็นต้องจุดไฟ ให้เปิดเต็นท์ หรือทำช่องระบายอากาศ หากต้องการแสงสว่างภายในเต็นท์ ควรใช้ไฟฉายแทนการจุดไฟ

          นอกจากนี้ ควรเพิ่มความระมัดระวังในการจุดไฟใกล้เต็นท์พักแรม และการประกอบกิจกรรมที่อาจเป็นสาเหตุของการเกิดเพลิงไหม้และไฟป่า ไม่ทิ้งก้นบุหรี่ลงบนพื้นหรือพงหญ้าแห้ง หากจำเป็นต้องก่อกองไฟควรดับไฟให้สนิทก่อนออกเดินทาง

          ที่สำคัญ นักท่องเที่ยวควรระมัดระวังการถ่ายรูป การเดินเล่น หรือยืนริมหน้าผาและชะง่อนหิน เพราะสภาพอากาศในฤดูหนาวมีความชื้นสูง ทำให้พื้นเปียกลื่นและมีตะไคร้เกาะ โดยเฉพาะบริเวณพงหญ้ารก ซึ่งอาจเข้าใจผิดคิดว่าเป็นพื้นดิน เมื่อไปเหยียบอาจทำให้พลัดตกหน้าผาเสียชีวิตได้ ดังที่ปรากฎเป็นข่าวมีผู้เสียชีวิตจากการถ่ายรูปที่ภูชี้ฟ้า จังหวัดเชียงรายได้

     
     
   
ที่มา : กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย
   
     
     
       
     
     
     
  nongnoy.NET  
     
     
     
Site Meter